ทุบสถิติกันแล้วทุบสถิติกันอีกกับราคาทองคำในตลาดโลก ปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลอีกครั้งที่ระดับ 2,942.52 ดอลลาร์/ทรอยส์ออนซ์ โดยเข้าใกล้จุดสำคัญที่ 3,000 ดอลลาร์

ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ทองคำหลายสำนักมอง เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 ประกาศสงครามการค้ากับนานาประเทศ และการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก

• ปี67 ความต้องการทองคำพุ่งทุบสถิติเฉียด 5 พันตัน

ความต้องการทองคำในช่วงไตรมาสที่ 4 และภาพรวมตลอดปี 2567 จากการรายงานข้อมูลของสภาทองคำโลก พบว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้ทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่อง และความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมา ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการทองคำมีมูลค่ารวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน

ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้ กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตัน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 2

ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับอยู่ที่ 1,186 ตัน ใกล้เคียงกับปี 2566 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่ 39.8 ตัน

• ไทยนำเข้าทองเป็นอันดับ 7 ของโลก

นายเซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่นๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้

นายเซาไกกล่าวเสริมว่า ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยคนไทยได้มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้ การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยนั้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

• 60 ปี ทองพุ่งกว่า 11,300%

ห้างทองเยาวราช กรุงเทพ ได้รวบรวมสถิติราคาทองคำแท่งย้อนหลัง 60 ปี ปรับขึ้นไปกว่า 11,300% จาก 414 บาท ในปี 2509 เทียบกับราคาทองคำแท่งที่ราคาสูงสุดใหม่ ณ วันที่ 13 ก.พ. 2568 ราคาขายออกที่ 47,450 บาท และเทียบราคาย้อนหลังไป 30 ปี ณ ปี 2538 ราคาทองอยู่ที่บาทละ 4,712 บาท ราคาปรับขึ้นไปกว่า 9,000% ขณะที่เทียบ 20 ปี ณ ปี 2548 ราคาทองคำที่บาทละ 8,555 บาท เทียบราคาปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปกว่า 450%

และเมื่อเทียบ 10 ปีย้อนหลัง ณ ปี 2558 ราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 20,150 บาท โดยราคาก็ยังปรับขึ้นไปกว่า 230% และหากเทียบช่วงปี 2566 กับปี 2567 ราคาทองพุ่งขึ้นไปถึง 30%

ส่วนปีนี้ผ่านมาได้แค่เดือนเศษ ราคาทองคำก็ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 10% โดยต้นปีทองคำแท่ง 96.5 อยู่ที่บาทละ 42,650 บาท และ ณ วันที่ 11 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ราคาทองมีความผันผวนอย่างมาก โดยภายในวันเดียวราคามีการเปลี่ยนแปลงถึง 27 ครั้ง และเป็นวันที่ราคาขายออกทองคำแท่ง 96.5 ปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 47,450 บาท

• ทองแท่งปีนี้แตะ 55,000 บาท

โดยน.ส.เอเกต ตัณฑชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน์นิ่ง โกลด์ บูลเลี่ยน จำกัด กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนต่างๆ ในโลกทำให้ธนาคารกลางต่างๆ สะสมทอง เช่น จีนไม่ได้สะสมทองมา 6 เดือน ก็กลับมาสะสมช่วงปลายปี 2567 ประมาณ 5 ตัน ดังนั้น มองว่าการที่ธนาคารต่างๆ เริ่มเห็นเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ในโลก ก็น่าจะมาสะสมทองเพิ่มขึ้นเมื่อราคาทองย่อตัว และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับขึ้นได้อีกโดยเฉพาะทองไทย ซึ่งได้ผลเชิงบวกจากค่าเงินบาทที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงอีก โดยประเมินว่าราคาทองคำในประเทศปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 42,000 บาท/บาททองคำ ซึ่งหากราคาอยู่บริเวณ 44,000 บาท สามารถซื้อสะสมได้ ส่วนผู้ที่ซื้อสะสมมานานแล้ว สามารถมองจุดขายที่ 48,000 บาทได้ และให้ราคาเป้าหมายสูงสุดปีนี้ที่ 50,000-55,000 บาท/บาททองคำ

“ทองคำเป็นทรัพย์สินปลอดภัยที่น่าสะสม ดังนั้น จึงแนะนำให้ทยอยซื้อทองสะสมเมื่อราคาทองย่อตัวลง”

• อานิสงส์บาทอ่อนกับ 4 ปัจจัยหนุน

ขณะที่ น.ส.ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่าราคาสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 2,942.51 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศก็ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 47,450 บาท/บาททองคำ จนเข้าใกล้เป้าหมายที่วายแอลจีมองไว้ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และทองไทย 48,000- 50,000 บาท/บาททองคำ หากได้อานิสงส์เพิ่มเติมจากเงินบาทอ่อนค่า

พร้อมเปิด 4 ปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำปรับขึ้น 1.ความกังวลในความไม่แน่นอนด้านนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น 3.ความคาดหวังของนโยบายการเงินเฟดที่ผ่อนคลายลง และ 4.การซื้อทองคำของธนาคารกลาง

โดยวายแอลจี ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 3,000 ดอลลาร์ แต่หากทองคำยังยืนราคาแกร่งต่อเนื่อง มีโอกาสจะขึ้นทดสอบเป้าหมายถัดไปที่ 3,100 ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และธนาคารกลางหลายประเทศยังเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ทองคำในระยะยาวก็ยังได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน