นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ทั้งปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 3.2% เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาส 3 ของปี 2567 ที่ 0.4%
โดยเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2% ในปี 2566 ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัว 4.4% และ 2.5% ตามลำดับ การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.8% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาสหรัฐ ขยายตัว 3.5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี
โดยมีปัจจัยสนับหนุนจาก 1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน 2.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 3.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และ 4.การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
สำหรับรายละเอียดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่ 1.การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า โดย (1) การเจรจาและเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ (2) การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม (3) การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ (4) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
2.การเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว โดย (1) การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (2) การเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว (3) การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย (4) การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
3.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบลงทุนรวม
4.การสร้างการรับรู้มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนีโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถช่าระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5. การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยให้ความส่าคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยและการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน