ราช กรุ๊ปทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน บริหารพอร์ตปั๊มผลตอบแทน -ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้จัดเตรียมงบประมาณลงทุนไว้ 15,000 ล้านบาท รองรับการลงทุนโครงการใหม่ๆ และโครงการที่ได้ลงทุนแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง โดยในปีนี้มี 3 โครงการที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ในฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาและพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทย่อยในออสเตรเลียได้พัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ โดยได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Kemerton ในออสเตรเลีย และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์เดิม และยังเป็นการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ กลยุทธ์กระจายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

“ปีนี้บริษัทได้ดำเนินการทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต โดยมุ่งเป้าที่การปรับพอร์ตสินทรัพย์ด้วยการจัดกลุ่มสินทรัพย์และกำหนดกลยุทธ์การบริหาร สินทรัพย์แต่ละกลุ่มให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากการปรับพอร์ตสินทรัพย์แล้ว ปีนี้บริษัทยังขยายการลงทุนโดยให้ความสนใจในโครงการพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2593 ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้บริษัทมีรายได้มั่นคงและสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง“

ทั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและลดการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก การนำโรงไฟฟ้าเดิมมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ โครงการ Synchronous Condenser ของโรงไฟฟ้าทาวน์สวิลล์ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานของโรงไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนเสถียรภาพระบบไฟฟ้าของรัฐควีนส์แลนด์

การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้วและสินทรัพย์ที่ดินเป็นธุรกิจใหม่หรือโครงการใหม่ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นจากพันธมิตรเดิมในโครงการที่ยังมีมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพสินทรัพย์ให้สอดรับกับเป้าหมายธุรกิจของบริษัทและลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่

โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะลงทุนโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการในมือแล้ว 12 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานเบอรีล กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์ฟาร์มมารูลัน กำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมสปริงแลนด์ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์

โครงการในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ โครงการพลังงานลมใกล้ชายฝั่งซานมิเกล กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 245 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่ากำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 232.75 เมกะวัตต์

โครงการพลังงานลมในเวียดนาม ได้แก่ โครงการเป็นแจ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 39.20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมบนฝั่ง 2 โครงการกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมประมาณ 140.45 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยอีก 153.97 เมกะวัตต์

ปัจจุบันบริษัทรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,815 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งสิ้น 7,843 เมกะวัตต์ 72.5% และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,972เมกะวัตต์ 27.5% ทั้งยังมุ่งหมายที่จะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ของกำลังการผลิตรวมในปี 2573 และ 40% ในปี 2578

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน