แบงก์ชาติลั่นไม่แทรกแซงบาทอ่อน คาดครึ่งปีหลังอาจพลิกมาแข็งค่า – ย้ำชัดเจนเข้ายุคดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

แบงก์ชาติลั่นไม่แทรกแซงค่าบาท – น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในขณะนี้ เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนทั่วโลก โดยตั้งแต่ต้นปีพบว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไปแล้ว 11.3%

ขณะที่เงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าทุบสถิติ เช่น เงินยูโรที่อ่อนค่าในรอบ 20 ปี ส่วนเงินบาทของไทยอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยจากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปีพบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 7.6% ซึ่งมาจากปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้ามากดดันเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยเรื่องระบบเศรษฐกิจการเงินภายในของไทยก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน โดยแนวทางในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะนี้จะยังคงปล่อยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกของตลาดเป็นหลัก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวสะท้อนราคาทุกอย่าง

“ธปท. ไม่ได้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับใดในใจ ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากผิดปกติ ตรงนี้ ธปท. จะเข้าไปดูแล เราแทรกแซงเรื่องความผันผวน แต่เราไม่แทรกแซงเรื่องระดับของค่าเงินบาท เรามีแนวทางในการดูแลอยู่แล้วว่าจะเข้าไปในช่วงไหน ตอนไหน แต่เราไม่เคยกำหนดว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับไหน ธปท. เน้นดูความผันผวนมากกว่า ถ้าผันผวนมากกว่าปกติจึงจะเข้าไปดูแล มองไปข้างหน้าทุกอย่างยังมีความเสี่ยง อ่อนได้ก็แข็งได้ แต่บาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก” น.ส.ดารณี กล่าว

น.ส.ดารณี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย โดยตั้งแต่ต้นปี ถึง 5 ก.ค. 2565 เงินทุนยังเป็นบวกสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยในตลาดทุนเป็นบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร ไหลออกราว 7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ที่ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 12 ของโลก ถ้าเทียบเงินสำรองต่อจีดีพี มีสัดส่วนสูงถึง 52% คิดเป็นอันดับ 6 ของโลก และหากเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เงินสำรองอยู่ที่ 335% หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทนั้น มองว่า ค่าเงินอ่อนหรือแข็งมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ธปท.พูดมาตลอดว่าเงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากๆ แต่ถามว่าสิ่งที่ ธปท.พยายามพูดมาตลอดคือให้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.ทำนโยบายภาพรวม ภาพใหญ่ ก็เข้าใจแต่ละกลุ่มมีผลกระทบที่ต่างกัน สิ่งที่ ธปท. พยายามทำคือให้แต่ละกลุ่มมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการพยายามลดกฎเกณฑ์ให้ทุกคนบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น พยายามทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงถูกลง เพราะเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็จะยังอยู่กับเราอีกนาน

น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ระดับ 7.66% ยังไม่ถึงระดับสูงสุด โดยคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าอาจจะได้เห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสูงกว่านี้ มีโอกาสที่จะถึงระดับ 8% แต่เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าระดับราคาสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังไม่ส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในทันที

“ธปท. คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกกลับเข้ามาที่ทำให้บาทไม่อ่อนมากกว่านี้ หรือกลับมาแข็งขึ้นด้วยซ้ำ หากท่องเที่ยวกลับมา ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น” น.ส.ณชา กล่าว

น.ส.ณชา กล่าวอีกว่า นโยบายการเงินขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ซึ่ง ธปท. ต้องการออกมาย้ำเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ชัดเจน จากก่อนหน้านี้ที่การปรับนโยบายการเงินจะให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ล่าสุดปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว มองไปในระยะข้างหน้าก็เห็นแนวโน้มการส่งผ่านการฟื้นตัวที่ชัดเจน จึงต้องให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน