4 พรรคโชว์วิสัยทัศน์ โครงสร้างพื้นฐาน ธนาธร ชูระบบ ราง ต้องเป็นกระดูกสันหลังคมนาคม ชัชชาติ ชี้ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจ

โครงสร้างพื้นฐาน / วันที่ 20 ก.พ. กองบรรณาธิการมติชน ทีวี จัดรายการ (S) Election’62 หัวข้อ “ทำอย่างไร ให้คนไทยหายจน” เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ร่วมเสวนา มีนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ดำเนินรายการ

เริ่มจากประเด็นแรก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ละพรรคมีนโยบายไม่ให้กระทบต่อวินัยการเงิน การคลังของประเทศอย่างไร

กรณ์ : พรรคปชป.เห็นว่าประเทศจีนจะได้ประโยชน์เรื่องรถไฟความเร็วสูงมากกว่าประเทศไทย เพราะฉะนั้นประเทศจีนควรมีส่วนร่วมลงทุนในเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับไทยด้วย เพราะถ้าไม่มีเส้นทางผ่านประเทศไทย ที่ประเทศจีนทำมาจากเมืองคุณหมิงถึงเวียงจันทร์ แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย

ในส่วนนี้ประเทศไทยต้องเจรจากับทางการจีนให้ได้ ในส่วนของรัฐบาลปัจจุบันที่มีการทำร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีนนั้น หากพรรคปชป.ได้มาเป็นรัฐบาลจะมีการพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการร่วมทุนใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สนธิรัตน์ : เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เห็นว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายแสนล้านบาท อย่างเรื่องรถไฟความเร็วสูงก็เป็นเคสแรกที่มีความจำเป็น

ส่วนนโยบายที่จะลงทุนไม่ให้กระทบงบประมาณของประเทศนั้น เห็นว่าการดำเนินงานในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) จะขับเคลื่อนให้มีความเชื่อมโยงในการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆได้ หัวใจสำคัญคือ จะได้ดูการลงทุนกับหนี้สาธารณะของประเทศให้มีความสมดุล

ธนาธร : เราเห็นความซ้ำซ้อนของการลงทุน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากกรุงเทพไปโคราช มีทั้งรถไฟความเร็วสูง การสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจขาดทุนในทุกโครงการ ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องทำขนาดนั้น คิดว่าต้องเริ่มจากการเปลี่ยนงบลงทุนของภาครัฐ จากกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนการลงทุนจากถนนเป็นราง และตั้งเป้าว่าในอนาคตกระดูกสันหลังของการคมนาคมไทยจะต้องเป็นราง

เมื่อเทียบกับประเทศฝรั่งเศสที่มีประชากรเท่ากับไทย แต่มีการจราจรระบบรางมากกว่าไทยถึง 7 เท่า คือประมาณ 3 หมื่นกิโลเมตร ผมเห็นว่าเราจะต้องขยายรางให้มากขึ้น โดยนำเรื่องระบบรางมาขยายงานภายในของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมราง อุตสาหกรรมรถไฟ ที่ประเทศไทยจะต้องสร้างงานภายในให้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งจะตอบโจทย์การจ้างงานในประเทศด้วย

สุดท้ายจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างด้านดิจิทัลด้วย การลงทุนด้านการศึกษา ที่ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น เครื่องมือ การเรียนการสอนของนักศึกษาให้เท่าเทียมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาด้วย

ชัชชาติ : หนี้สาธารณะของประเทศในขณะนี้ยังไม่น่าห่วง ตอนนี้มี 41% เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นสำคัญผมมองว่าอยู่วิธีการลงทุนมากกว่าว่าจะเลือกใช้วิธีการใด อย่างพีพีพีรัฐบาลก็ต้องลงเงินเป็นแสนล้าน อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ไปจ.ระยอง หัวใจคือ จะต้องไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ต่อไปเมื่อจีดีพีเพิ่ม ตัวหารเพิ่ม หนี้สาธารณะก็จะไม่เป็นปัญหา

ที่ผมห่วงคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแต่ไม่ได้คิดเรื่องการเพิ่มมูลค่าไปด้วย สร้างเศรษฐกิจให้โตขึ้นไปด้วย เรื่องการสร้างรถไฟไม่ใช่สร้างแล้วเศรษฐกิจจะตามมาอย่างทันที หัวใจคือจะนำโครงสร้างพื้นฐานไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

ยกตัวอย่าง ครก กับ สาก หากเราไม่ตำน้ำพริกออกไปขายก็สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ เราต้องคิดให้ครบวงจรว่า จะเอารถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร เราต้องมองภาพรวมทั้งระบบว่าจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน