ไอลอว์ ฟันธง 27 ก.พ. ธนาธร ไม่ติดคุก ไม่ขาดคุณสมบัติลงเลือกตั้ง

เรื่องสำคัญที่ต้องจับตา คือคดีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ตัวแทนของ คสช. แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ 2 กรรมการบริหารพรรค กรณีจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจอนาคตใหม่ – The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ คสช. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.61

โดยทนายความผู้รับมอบอำนาจฯ ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน ว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ต้องส่งสำนวนคดีให้แก่พนักงานอัยการภายในวันที่ 22 ก.พ.นี้ และนัดนายธนาธรพร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน ให้ไปพบพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนคดีต่อไป ในวันที่ 27 ก.พ.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก

ไอลอว์ ชวนเปิดดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระแส #savethanathorn เพื่อให้กำลังใจกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค, และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ถูกนัดให้ไปพบพนักงานอัยการเพื่อจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี และต้องลุ้นต่อว่า ทั้งสามคนจะถูกส่งตัวไปศาลเพื่อขอฝากขังหรือไม่ ถึงขั้นตอนนี้คดีนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการตามปกติเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ และคาดการณ์ได้ว่า แกนนำพรรคอนาคตใหม่ทั้งสามคนจะไม่ต้องเข้าเรือนจำ และไม่ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

โดย “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในยุคของ คสช. และเขียนเอาผิดเนื้อหาบนโลกออนไลน์ไว้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2560 มาตรา 14(2) กลายเป็นกฎหมายหลักที่ถูกรัฐและคนมีอำนาจหยิบมาใช้ดำเนินคดีหรือข่มขู่เพื่อ “ปิดปาก” สร้างภาระให้กับคนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต อย่างน้อย 45 คดี รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข, พิชัย นะริพทะพันธ์, เอกชัย หงษ์กังวาน

ผู้ที่โพสต์เฟซบุ๊กจุดประเด็นให้เป็นกระแสสังคมหลายครั้งก็ถูกเอามาตรานี้มาใช้ เช่น เพจ CSI LA ที่พูดเรื่องนักท่องเที่ยวถูกข่มขืน, เพจ Khonthai UK วิจารณ์การจัดซื้อดาวเทียม หรือเพจ City Life Chiang Mai ที่พูดเรื่องปัญหาฝุ่นควัน หรือกรณีเพลงแร็พ “ประเทศกูมี”

ผลในทางปฏิบัติ คือ หลายคดีก็คั่งค้างไว้ไม่เดินหน้า หลายคดีเมื่อขึ้นศาลแล้วศาลก็ยกฟ้อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

สำหรับคดีของพรรคอนาคตใหม่ หลังจากพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จเรียบร้อยก็ส่งสำนวนต่อให้อัยการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 และอัยการนัดให้ไปพบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ขั้นตอนในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวันดังกล่าว เป็นไปได้หลายกรณี ดังนี้

1.พนักงานอัยการสั่ง “เลื่อน” คือ ยังไม่สั่งในวันดังกล่าวว่า จะฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดี แต่เลื่อนออกไปก่อนและนัดให้ผู้ต้องหามาฟังคำสั่งใหม่ในภายหลัง ซึ่งก็จะทำให้เสียเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่น โดยคดีที่เป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์แบบนี้ เช่น คดี ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ที่ผู้ต้องหาต้องไปพบอัยการอยู่ 6 นัด ก่อนจะสั่งไม่ฟ้องคดี

2.พนักงานอัยการสั่ง “ไม่ฟ้อง” เนื่องจากการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิด หรือสิ่งที่ทั้งสามคนพูดในเฟซบุ๊กไลฟ์นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจจะสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่า การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็ได้ กรณีนี้ก็ยังเป็นไปได้ แต่มีโอกาสไม่มาก

3.พนักงานอัยการสั่ง “ฟ้อง” ซึ่งอัยการก็จะต้องพาผู้ต้องหาทั้งสามคนไปยังศาล เพื่อส่งคำฟ้องให้ศาลและส่งตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในอำนาจศาล หากอัยการจะสั่งฟ้องก็ยังมีความเป็นไปได้พอแบ่งได้อีกเป็นสี่กรณี คือ

3.1 อัยการส่งฟ้องแล้ว แต่ไม่ขอ “ฝากขัง” คือ ไม่ได้ขอให้ศาลควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี เนื่องจากเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีและไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หากอัยการไม่ขอฝากขัง เมื่อส่งฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้ต้องหาก็เดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ต้องยื่นประกันตัว ซึ่งกรณีนี้เป็นไปได้น้อย เนื่องจากในคดีทั่วๆ ไปอัยการมักจะยื่นขอฝากขังพร้อมกับการยื่นฟ้องด้วย

3.2 อัยการส่งฟ้องแล้ว และขอ “ฝากขัง” คือ ขอให้ศาลสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี เนื่องจากเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ซึ่งเมื่อศาลรับคำร้องแล้วขอฝากขัง ศาลจะพิจารณาและอาจจะสั่งให้ฝากขังเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ หรือสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขังก็ได้

3.3 อัยการส่งฟ้องแล้ว และขอ “ฝากขัง” และศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของอัยการ เนื่องจากเห็นว่า ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนทางปฏิบัติที่ทำกันจนชินแล้ว เช่นนี้ ผู้ต้องหาทั้งสามคนก็จะถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังชั่วคราวใต้ถุนศาล ขณะที่ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัว ซึ่งเท่าที่ติดตามคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ไม่เคยมีคดีใดที่ศาลจะสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลมักกำหนดหลักทรัพย์อยู่ที่ 70,000-100,000 บาทต่อคน

3.4 อัยการส่งฟ้องแล้ว และขอ “ฝากขัง” และศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของอัยการ เมื่อผู้ต้องหายื่นขอประกันตัวและศาลเห็นว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสามคนถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี กรณีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก หากดูจากทางปฏิบัติปกติของศาล

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 กำหนดไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(6) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(13) ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้ “ฝากขัง” และไม่ให้ประกันตัวแกนนำพรรคอนาคตใหม่ แบบไม่เหมือนคดีปกติทั่วไป ก็ยังเป็นเพียงกรณีการฝากขังเพื่อควบคุมตัวไว้ระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น ขั้นตอนต่อไป คือ ศาลยังต้องนัดวันให้เอาตัวผู้ต้องหามาเพื่อสอบถามคำให้การ เพื่อตรวจพยานหลักฐาน และสืบพยานทั้งสองฝ่าย อีกหลายครั้ง

กรณีของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ทั้งสามคน แม้จะต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ก็ไม่ใช่กรณีที่ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ตามมาตรา 98 (6) และไม่ใช่กรณี “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” ตามมาตรา 99 (13) ซึ่งอาจต้องรออีกหลายปีกว่าจะมีคำพิพากษาของทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

ดังนั้น จึงฟันธงได้ว่า การถูกนัดให้ไปพบพนักงานอัยการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นไปไม่ได้ที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ทั้งสามคนจะถูกดำเนินคดีจนกระทั่งถูกตัดสินและขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งรอบนี้

อย่างไรก็ตามก็ ต้องถือว่า ผลกระทบแห่งการดำเนินคดีได้เกิดขึ้นแล้วเพราะบุคคลทั้งสามต้องแบ่งสมาธิและเวลามาต่อสู้คดีแทนที่จะได้ใช้อย่างเต็มที่ในการหาเสียงเฉกเช่นผู้สมัครคนอื่นๆ

อ่านต้นฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน