ประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ ให้จับมือเพื่อไทยเหรอ…เหม็นขี้หน้า!

วันที่ 13 มี.ค. ที่พรรค ประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรค และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงย้ำจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล

นายจุติ กล่าวว่า หลายคนอาจสงสัยและสับสนว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์มาประกาศจุดยืนในตอนนี้ ตนเห็นว่าถ้าทุกคนถอดอารมณ์ออกจากเหตุการณ์แล้วมองด้วยสติ ข้อเท็จจริง จะเห็นว่าทุกพรรคการเมืองแข่งขันกันเพื่อเป็นที่หนึ่ง และเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเป็นการแข่งกันด้วยนโยบายที่ต้องนำเสนอให้กับประชาชน

วันนี้ตนคิดว่าความมีอารมณ์ได้กลบนโยบายดีๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการนำเสนอ ทั้งนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เวลา 200 กว่า สัปดาห์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมาจัดทำเป็นนโยบายของพรรค เพื่อตอบโจทย์ในปัญหาต่างๆ และเมื่อเราได้เป็นรัฐบาลก็จะสามารถลงมือทำได้ทันที นี่คือข้อแตกต่างของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอื่น

คำถามว่าเราจะไปจับมือกับพรรคการเมืองใด ไม่สำคัญเท่าการมีกิน มีใช้ มีเงินเก็บพอ และชำหนี้ได้ ลูกหลานเรียนจบมีงานทำแน่นอน ผมคิดว่าสังคมลืมเรื่องพวกนี้ไป ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงอยากบอกว่าเราจะมาโฟกัสตรงนี้มากกว่าการเมือง เราจะไม่แก้เกมการเมือง แต่เราจะแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

“สิ่งที่อยากให้ประชาชนมั่นใจ ประชาธิปัตย์บอกเป็นครั้งที่ 100, 200 แล้ว ว่าไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน และเพื่อไทยก็ชัดเจนว่าไม่จับมือกับเรา พูดง่ายๆ ต่างคนก็ต่างประกาศว่าเหม็นขี้หน้ากัน” นายจุติ กล่าว

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าวันนี้เรามีของดี คือนโยบายในการแก้ไขปัญหา การเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้ประชาชนเลือกว่าพรรคใดจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของท่านได้ดีที่สุด และอยากจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์มีทีมเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ซึ่งพรรคอื่นไม่มี โดยเราจะทำให้สิ่งที่ถูกต้อง จะไม่ทำให้ประเทศต้องเสียหาย ฐานะทางการคลัง การเศรษฐกิจของประเทศต้องไม่เสียหาย

ตนอยากเตือนสติพี่น้องประชาชนว่าอย่าเลือกด้วยความสะใจ เหมือนอย่างกรณีที่ประเทศอังกฤษ ให้ประชาชนลงมติออกจากสหภาพยุโรป ซึ้งตอนนั้นประชาชนของเขาไปลงมติด้วยความเบื่อ จนทำให้ขณะนี้เศรษฐกิจของอังกฤษ ย่ำแย่ลง และอกไม่กี่วันจะถึงการเลือกตั้งแล้ว ขอให้ประชาชนดูที่นโยบายของแต่ละพรรค บางพรรคอยู่ในมุมมืด ได้แต่เพียงแสดงจุดยืนทางการเมือง

ขอถามว่าเพียงแค่การแสดงจุดยืนทางการเมืองจะสามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้จริงหรือไม่ ซึ่งตนบอกเลยว่าไม่ได้

ฝาก ‘เทือก’ ประชาชนมีกินก่อนค่อยทะเลาะ

เมื่อถามว่า ล่าสุดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังยืนยันที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร. เหมือนเช่นพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายจุติ กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาน้อยสำหรับการหาเสียงแล้ว ตนจึงตั้งใจที่จะมุ่นเน้นเรื่องนโยบายมากว่าจะไม่เสียสมาธิกับเรื่องจะไปจับมือกับใคร เพราะการจะจับมือกับใครเราต้องฟังเสียงประชาชนวันที่ 24 มี.ค. ที่จะบอกว่าจะเอาใครเป็นรัฐบาล

ตอนนี้ยังคาดเดาไม่ได้ว่าประชาชนจะเราหรือคนอื่น แต่ยืนยันว่าเราจะฟังและเคารพเสียงประชาชนอย่างแน่นอน เมื่อถามย้ำว่า ถ้าเสียงของประชาชนบอกว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จะยินยอมไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจุติ กล่าวว่า ตนจะไม่ตอบคำถามที่ว่า “ถ้า” เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยออมากล่าวหาว่าจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่มติพรรค นายจุติกล่าวว่า แล้วตอนนี้ คนที่ออกมาพูดเป็นมติพรรคหรือไม่ พรรคไหนประชุมได้บ้าง

เมื่อถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ปราศรัยว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่าจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายจุติ กล่าวว่า เราพูดเป็นครั้งที่พันแล้วว่าจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่าไม่จับกับเรา ไม่เข้าใจหรืออย่างไร

ต่อให้พูดเป็นหมื่นหน ประชาชนก็ฟังรู้เรื่องแล้วว่า สองพรรคนี้เหม็นขี้หน้าซึ่งกันและกัน เพราะมีคำตอบอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ความเห็นอะไรอีก แต่อยากจะให้ประชาชนไปดูนโยบายพรรค และตัดสินใจด้วยสติ ว่าจะมอบความไว้วางใจให้กับใครต่อไป

ต่อข้อถามว่า การปราศรัยของนายสุเทพ มีการโจมตีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้จะแก้ไขอย่างไรเพราะอาจจะมีผลต่อฐานเสียงของพรรค เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่เราลงพื้นที่หาเสียงอยบ่างหนัก ไม่มีประชาชนคนไหนบอกให้ไปจับมือกับใคร มีแต่บอกว่าจะแก้ปัญหาต่างๆให้ประชาชนอย่างไร พวกเขาหิว ขอกินอิ่มก่อนแล้วค่อยทะเลาะกันได้หรือไม่ เราก็ต้องนำเสนอนโยบายว่าจะแก้ให้เขาและทำตามนั้น

โดยทำให้ประชาชนอิ่มก่อนแล้วค่อยทะเลาะกัน ไปแก้รัฐธรรมนูญหรืออะไรภายหลัง ส่วนที่หลายพรรคพยายามชวนทะเลาะกับเราเรื่องจุดยืนนั้นเพราะพวกเขาไม่มีนโยบายที่จะมานำเสนอหรือไม่ ดังนั้นขอให้เอานโยบายมานำเสนอดีกว่า

นี่คือวินัยการต่อสู้ของเรา เขาก็สู้แบบนั้น ถ้าเราสู้ผิดก็แพ้ แต่ถ้าเขาสู้ผิดเขาก็แพ้ แต่สิ่งที่เราแพ้คือจุดยืนที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ เราแพ้ตามอุดมการณ์ เพราะทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว ส่วนประชาชนจะยอมรับหรือไม่ เราก็ฟังเสียงประชาชน ครั้งนี้จะเห็นขอแตกต่างว่าเราใช้นโยบายที่กระชับ โดน แก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง แม้จะไม่เกือบทุกเรื่อง ซึ่งพรรคอื่นไม่มี

“การแสดงครั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนที่รู้สึกงุนงง สับสนว่าเกิดอะไรขึ้นได้รับความชัดเจน ไม่ใช่เป็นการออกมาช่วยนายอภิสิทธิ์ ”นายจุติ กล่าว

นโยบายเกทับสร้างความขัดแย้ง

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ของเราตอบโจทย์ความต้องการประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่านโยบายของ พปชร. เพราะที่ผ่านมา พปชร.เน้นนโยบายที่ส่งเสริมทุนใหญ่ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองว่าประชาชนทั่วไปในระดับฐานราก และชนชั้นกลางถูกละเลยมานาน นโยบายประชาธิปัตย์จึงเน้นคนวัยทํางาน และผู้มีรายได้น้อย

เราไม่ขายแต่ GDP เราชูดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ (PITI) ซึ่งเป็นการวัดการพัฒนาที่เป็นตัววัดความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เราเน้นการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เก็บภาษีเศรษฐี ดูแลคนรายได้ปานกลาง และให้สวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10 % ทุกกลุ่มแต่คนรวยได้ประโยชน์สูงสุด ปชป.ไม่ลดคนรวยชัดเจน ในแง่นิติบุคคล ประชาธิปัตย์ ลดให้เฉพาะเอสเอ็มอีเท่านั้น

จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นพรรคใด โดยเฉพาะ พปชร.ชี้แจงตัวเลขเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในแต่ละนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีการกำหนดไว้ว่า ต้องเปิดเผยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ทั้งตัวเลขที่จะใช้ในแต่ละนโยบายและที่มาของแหล่งเงิน หากหาเสียงแล้วทำไม่ได้ หรือใช้งบประมาณจนเป็นปัญหาต่อประเทศ ก็อาจนำมาซึ่งต้นเหตุแห่งความขัดแย้งใหม่ได้อีก

“ผมมีความกังวลเรื่องของการเกทับกันด้วยตัวเลขที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงโค้งสุดท้าย แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่าวงเงินโดยรวมที่จำเป็นต้องใช้ในการขับเคลื่อนทุกนโยบายที่นำเสนอเป็นเงินเท่าไหร่ และที่มาของเงินทุนรวมถึงผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังจะกระทบพี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีอย่างไร ซึ่งยังไม่มีพรรคอื่นนำเสนอ

“ดังนั้นด้วยเหตุผลทางนโยบายอย่างเดียวเท่านั้นจึงเป็นเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้อง เป็นแกนนำหลักการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้” นายกรณ์ กล่าว

“ประยุทธ์” หมดเวลาพิสูจน์ตัวเอง

ขณะที่นายองอาจ กล่าวว่า การประกาศจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการแสดงจุดยืนรอบด้านที่ตรงไปตรงมา และไม่มีอะไรแอบแฝง แต่อยู่บนพื้นฐาน ด้วยเหตุผลหลายด้านคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงศักยภาพให้เห็นชัดเจนในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

2.พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจแฝงโดยมิชอบเกินขอบเขต เพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ที่เห็นได้ชัดคือการปกปิดข้อมูลหลายด้าน จนเกิดข้อครหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นมีหลายโครงการที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งใช้กลไกอำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระ

และ 3. พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าไม่อยากให้ใช้วาทกรรมการสืบทอดอำนาจ และที่ระบุสิ่งพรรคการเมืองทำกันขณะนี้ทุกคนก็อยากเป็นนายกฯ ก็คือการสืบทอดอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน ซึ่งการที่พล.อ.ประยุทธ์กำลังใช้ตรรกะที่บิดเบี้ยวโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่เสนอตัวเป็นแคนดิเดตของพรรคการเมืองต่างๆล้วนเป็นการเสนอตัวเป็นนายกฯตามระบอบประชาธิปไตยปกติ ต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ที่เข้ามาโดยการยึดอำนาจ และอ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูป และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น แต่กลับทำตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมที่เอาเปรียบนักการเมือง โดยใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้

สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นกระบวนการของการสืบทอดอำนาจชัดเจน ซึ่งไม่ใช่วาทกรรมการเมือง พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งพฤติกรรม และกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่องว่าสืบทอดอำนาจ

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนพฤติกรรม และกิจกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ให้ทำเพื่อการสืบทอดอำนาจต่อไป เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าได้พิสูจน์ตัวเองเพียงพอแล้ว ควรเปิดโอกาสให้นักการเมืองอาชีพตามปกติในระบอบประชาธิปไตยเสนอตัวทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนเพื่อที่จะนำพาประเทศนี้เดินหน้าต่อไป” นายองอาจ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน