พรรคประชาชาติ แนะปฏิรูปตร. ติงดึงงานทหาร-ทนายมาใช้ เปิดแผน ‘5 ส 2 ต’

หลายยุคหลายสมัยมีความพยายามต้องการปฏิรูปตำรวจ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างดั่งที่คาดหมายกันไว้ ทางพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ ในฐานะอดีตนายตำรวจ ได้มีข้อเสนอและแนวทางในการปฏิรูปตำรวจ โดยระบุว่า

“การปฏิรูปตำรวจ ประชาชาติ : ต่อวิชาชีพตำรวจ ตำรวจ คือ ผู้พิทักสันติราษฎร์ ซึ่งหมายถึงการดูแลคุ้มครองประชาชนของประเทศให้ปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม และการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา”

ประชาชาติ เห็นว่า ควรปฏิรูปความคิดและพฤติกรรมของผู้มีอำนาจและคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เสียก่อน และเห็นว่า เป้าประสงค์ของ “ตำรวจ” ต้องการดูแลคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัย หรือการพิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นสำคัญ

ที่ผ่านมา คสช. ล้มละลายในการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งพรรคประชาชาติจะส่งเสริมให้ตำรวจ เป็นผู้พิทักสันติราษฎร์อย่างแท้จริง ตำรวจต้องดูแลคุ้มครองประชาชนของประเทศให้ปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม และการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

วิกฤตของ “งานตำรวจ” ได้เอารูปแบบของงานทหาร และงานทนายความกับนักกฎหมายใช้ปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ตำรวจเหมือนทหารบวกทนายความ แต่ความจริง มีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง หน้าที่ของตำรวจคือการคุ้มครองประชาชน การบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนอยู่ภาพใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (ขอเน้นย้ำคำว่า ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงฐานะ หรือสถานภาพทางสังคมบุคคลผู้นั้น) ในการอำนวยความยุติธรรม ดังนั้นตำรวจต้องยึดเสมอว่า “ความซื่อตรงต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

งานในวิชาชีพตำรวจ จึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อยให้สังคมผดุงความยุติธรรม บังคับใช้กฎหมาย บริการสาธารณะด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วิชาชีพตำรวจจึงมีความสำคัญยิ่ง มีคุณค่า ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม มีน้ำใจ และเสียสละเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้งานตำรวจดีขึ้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ถ้าใช้เป็นแค่วาทะกรรมที่มีอคติ ขาดความรู้จริง และขาดความจริงใจ แทนที่จะเป็นการปฏิรูปให้ดีขึ้น กลับเป็นการทำลายวิชาชีพตำรวจได้

ปัจจุบัน คสช. และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจำนวนมาก ขาดความเข้าใจถึงปรัชญา และเป้าประสงค์ของงานตำรวจ โดยเฉพาะความคิด และพฤติการณ์ของผู้มีเป็นคณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มที่ร่วมเผด็จการ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่เหนือกฎหมาย ขัดหลักนิติธรรม การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเพียงวาทะกรรมที่นำมาอ้าง เพื่อให้งานตำรวจเบี่ยงเบนไปจากปรัชญา “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

ความจริงแล้ว การปฏิรูปควรเริ่มโดยการปฏิรูปความคิดของผู้มีอำนาจทั้ง คสช. และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสียก่อน แล้วค่อยมาพูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจ เพราะงานตำรวจทั้งปรัชญา อุดมการณ์ อุดมคติเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเป้าประสงค์ร่วมของสังคมอยู่แล้ว

พรรคประชาชาติ เห็นว่า จะต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน เป็นปฏิรูปวิชาชีพตำรวจที่ประชาชนเชื่อมั่น เป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้ความสำคัญกับ 5 ส และ 2 ต คือ

5 ส. คือ
1.สายตรวจ – ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันอาชญากรรม และบริการประชาชน คนอ่อนแอ และด้อยโอกาส
2.)สายสืบ – แสวงหาข้อเท็จจริง หลักฐานก่อน ขณะ และหลังการกระทำผิดทางอาญา
3.สอบสวน – รวบรวมพยายหลักฐาน ดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ เอาตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
4.สิทธิมนุษยชน – สิทธิเสรีภาพของประชาชนบนพื้นฐานของกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน
5.สวัสดิการ – จะต้องจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้มีความพร้อมอยู่เสมอ รวมถึงการปรับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เท่าเทียมกับพนักงานอัยการด้วย

ส่วน 2 ต คือ
1.แต่งตั้ง – การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง ต้องยึดมั่นในระบบคุณธรรม ปฏิเสธระบบอุปถัมภ์
2.ตรวจสอบ – ต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยตามอำเภอใจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังมิให้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม

ดังนั้นถ้าต้องการให้การปฏิรูปตำรวจเกิดประโยชน์ต่อสังคมและต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงแล้ว การปฏิรูปตำรวจจะต้องเอาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและจังหวัดเป็นตัวตั้ง ตำรวจจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนได้ตามที่ปฏิญาณไว้

แม้ว่าการบริหารงานตำรวจไทยเป็นแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง บังคับบัญชาจาก “บนลงล่าง” (รูปปิรามิด) แต่ในทางปฏิบัติจริงจะต้องเน้นไปที่การบริหารแบบ “ล่างขึ้นบน” โดยผู้บังคับบัญชาควรที่จะคอยรับฟังปัญหาที่ทางตำรวจสายตรวจ สายสืบ และพนักงานสอบสวนประสบมา แล้วช่วยสนับสนุนด้านการวางนโยบายแก้ไข การฝึกฝนอบรม และการให้ความพร้อมและให้อุปกรณ์ในการทำงานต่างๆ แก่ผู้ปฏิบัติ

สรุปคือ “การช่วยให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่แบบมืออาชีพ”

ทุกวันนี้ เวลาประชาชนมีเรื่องขึ้นสถานีตำรวจ ประชาชนยังขาดความไว้วางใจในการปฏิบัติของตำรวจ โดยคู่กรณีส่วนมากมักจะวิ่งเต้นหาคนรู้จัก เพื่อให้บอกตำรวจว่า “ช่วยบอกให้ตำรวจทำตรงไปตรงมาก็พอแล้ว ไม่ต้องช่วยหรอก”
ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการปฏิรูปตำรวจคือ “ต้องเรียกความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในตำรวจกลับมาให้ได้”
ประเภทของปัญหา/อาชญากรรมที่ตำรวจควรศึกษาและเข้าใจ

1.ปัญหามโนสาเร่
-เป็นปัญหาเล็กน้อยในบางครั้ง แต่เกิดมากที่สุดและรบกวนความสงบสุขของประชาชนมากที่สุด เช่น การเปิดดนตรีหรือมีงานเสียงดังรบกวนชาวบ้าน สุนัขเห่าเสียงดัง คนขับมอเตอร์ไซด์บนทางเท้า จอดรถไม่เป็นที่ขวางทางเดิน จอดรถเก่าทิ้งในซอยนานแรมเดือน/ปี เด็กแว้นหรือเด็กวัยรุ่นมั่วสุมส่งเสียงดัง บ้านหรือพื้นที่รกร้างที่มีคนเข้าไปมั่วสุม เป็นต้น

-งานวิจัยพบว่าปัญหาประเภทนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากตำรวจนักเมื่อคนมาแจ้งความ แต่ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนมากจากปัญหาประเภทนี้เพราะเกิดบ่อยแทบทุกวัน
-ตำรวจควรได้รับการฝึกฝนอบรมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ดี และอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตำรวจสายตรวจ และควรมีการอบรมเกี่ยวกับจิตวิทยาการพูดคุยโต้ตอบกับประชาชน
-ตำรวจต้องใส่ใจกับ ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้ หรืออาจจะดึงดูดความสนใจของผู้มิหวังดีเข้ามาสร้างปัญหาเพิ่มได้ด้วย เหมือนที่กล่าวไว้ในทฤษฎีหน้าต่างแตก

2.ปัญหา/อาชญากรรมเฉพาะ
-เช่น แก๊งปล้นจี้ร้านทอง แก๊งปล้นตู้เอทีเอ็ม แก๊งต้มตุ๋นผู้สูงวัยทางโทรศัพท์ แก๊งปลอมพาสปอร์ค/บัตรประชาชน แก๊งลวงเด็กทำอนาจาร หรือคนหาย เป็นต้น
-ตำรวจจะต้องสร้างทีม (การตำรวจที่มุ่งเน้นที่ปัญหา) ขึ้นมา ซึ่งเป็นยุทธวิธีตำรวจอย่างหนึ่งที่ฝึกฝนอบรมตำรวจในการป้องกันแก้ไขปัญหาเฉพาะเป็นกรณีๆไป
-การอบรมการใช้อาวุธปืน เนื่องจากปัจจุบันคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ ตำรวจมากขึ้น

3.ปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวคอมพิวเตอร์และไอที
-เป็นปัญหาที่นับวันจะเกิดมากขึ้น และเพิ่มปัญหาให้กับ จนท.ตำรวจอย่างมาก เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความสามารถและทักษะในการสืบสวนสอบสวนคดีประเภทนี้
-ตำรวจอาจจะไม่สามารถนำเสนอ/อธิบายให้อัยการหรือศาลเข้าใจในคดีเหล่านี้ได้ดีพอ
-กฎหมายใหม่ ๆที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านคอมพิวเตอร์ก็เพิ่งออกมาหลายฉบับ
-ต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมในเรื่องนี้

ประเด็นที่จะต้องแก้ไขและพิจารณาใช้
1.ด้านการปฏิบัติงานของตำรวจ
1.1.การใช้เทคโนโลยี
– การใช้โดรนในการตรวจ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ
– การติดตั้งเครื่องสแกนป้ายทะเบียนในรถสายตรวจ
– การใช้อาวุธที่ไม่สังหาร เช่น ปืนกระแสไฟฟ้า ปืนลูกกระสุนยาง เป็นต้น
– การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยรวบรวมข้อมูลทางคดีและกฎหมาย
– การฝึกอบรมตำรวจในด้านวิชาการ ทางออนไลน์

1.2.การจ้างบุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญมาทำงานด้านไอที และงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ให้กับ สตช.
สรุปคือว่า ไม่มีใครที่จะปฏิเสธถึงความจำเป็นในการปฏิรูปตำรวจ เพราะงานตำรวจและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่สัมผัสได้มากที่สุด ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ตำรวจถือว่าเป็นด่านแรกหรือประตูแรกของกระบวนการยุติธรรม ในทางวิชาการแล้วระบบตำรวจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละประเทศถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความมีอารยะของประเทศนั้นๆ ก็ว่าได้

ดังนั้น การปฏิรูปตำรวจจะต้องมุ่งเน้นไปที่ปัญหาของประชาชนและของชุมชน ควบคุมไปกับการเน้นในการสร้างเสริมสมรรถนะและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีบทบาทและหน้าที่ที่สัมผัสกับปัญหาเหล่านั้นโดยตรง ซึ่งก็คือ 3 ส แรก (สายตรวจ สายสืบ สอบสวน) คือทำอย่างไรจึงจะให้ 3 ส มีการฝึกอบรมอย่างเพียงพอและหมาะสม มีเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ครบและมีความพร้อมในหน้าที่อยู่เสมอ และก็ต้องคำนึงถึง 2 ต ด้วย (แต่งตั้ง และตรวจสอบ) เพื่อให้งานตำรวจเป็นวิชาชีพโดยแท้จริงและปฏิบัติงานในหน้าที่โดยตำรวจ (โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา) ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ตรงกับตำแหน่งนั้นๆ และมีระบบที่ดีในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ฝากข้อคิดไว้ว่า ถ้าการปฏิรูปตำรวจไม่เริ่มจากปัญหาของประชาชน ก็จะเหมือนกับการแก้ความจนโดยการแจกสิ่งต่างๆ ให้ ทำให้ยากที่ปัญหานั้นจะหมดไป ตำรวจต้องฟังปัญหาจากประชาชนและเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตำรวจต้องคิดเสมอว่า “ปัญหาของประชาชนคือปัญหาของตำรวจ” เพราะท่านเซอร์ โรเบิรต์ พีล (Sir Robert Peel) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และรมต.มหาดไทยของอังกฤษ) และเป็นบิดาของตำรวจสมัยใหม่ ซึ่งหลักการของเซอร์พีล ได้ถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนการสอนหลักการงานตำรวจเกือบทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

และหนึ่งในหลักการนั้น เซอร์ โรเบิร์ต พีล พูดว่า “ตำรวจคือประชาชนและประชนชนก็คือตำรวจ ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนและจะต้องทำหน้าที่อย่างตั้งใจและเต็มที่ เพื่อความคงอยู่ของสังคมและความสงบสุขของประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน