อ.จุฬา ชี้ชัด เพื่อไทย มีความชอบธรรม ตั้งรัฐบาลได้ทันที หยุดอ้าง ‘ป๊อบปูล่า โหวต’

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณี ที่พรรคพลังประชารัฐ อ้างถึงคะแนนดิบ หรือ “ป๊อปปูล่า โหวต (Popular Vote)” รวม 350 เขต กว่า 8ล้าน คะแนน แต่ได้ ส.ส.เขตรวม 97 ที่นั่ง ว่าได้มากกว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่ง ส่ง ผู้สมัคร ส.ส. เพียง 250 เขต จาก 350 เขต และได้คะแนนกว่า 7ล้าน5แสนกว่าคะแนน แต่ได้ส.ส.ระบบเขต 137 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชารัฐ อ้างผลคะแนน “ป๊อปปูล่า โหวต (Popular Vote)” เป็นเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า

ผมขออนุญาตให้ความเห็นในเชิงวิชาการ 3 ข้อ เกี่ยวกับการอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชาดังนี้

1. “ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน” หรือ “Representative democracy” ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้มีการรับรองไว้ เป็นระบอบที่ถือเอา “ผู้แทนประชาชน” (Representative) เป็นสำคัญ หาใช่ “ระบอบประชาธิปไตยทางตรง” หรือ “Direct democracy” ที่ถือเอาการแสดงออกของตัวประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ

การกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมว่ามีคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐมาโดยตรงมากกว่าพรรคอื่นจึงเป็นการอ้างถึงระบอบการปกครองที่ผิดฝาผิดตัว อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากมายหากพรรคอื่นๆ จะมีการกล่าวอ้างเช่นเดียวกัน เช่น พรรค ก. ได้คะแนน Popular vote ในกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากที่สุดย่อมมีความชอบธรรมในการดูแลกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากกว่าพรรคอื่น

ทั้งหมดจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่ถูกต้อง ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทนจึงต้องยึดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก

2. การกล่าวอ้างถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง (Voting system) ที่ไม่ต้องการให้มีการเทคะแนนเสียงทิ้งน้ำนั้นถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ในทางกลับกัน การที่พรรคพลังประชารัฐใช้เหตุผลของการนำเอาทุกคะแนนเสียง ที่เลือกพรรคตนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

โดยหาได้ให้ความสำคัญกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นกลับชี้ให้เห็นถึง “ข้อบกพร่องของระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเอง” ที่ก่อให้เกิดสภาวะเช่นนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผลคะแนน Popular vote ไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเป็นเรื่องของระบบเลือกตั้งที่มีการออกแบบและบังคับใช้ที่ไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของผู้ออกแบบระบบเลือกตั้ง

3. การให้พรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับ 1 ทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ” หรือ “Constitutional convention”

ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาพูดว่า “มรรยาท ทางการเมืองสากล” ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หรือประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศอังกฤษก็ดี ก็ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมทางการเมืองข้างต้นจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมยิ่ง

อนึ่ง ผมคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ พึงต้องเข้าใจต่อหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและการเมืองข้างต้นนี้ด้วยเช่นเดียวกันครับ


ไม่พลาดข่าวการเมือง ลึก เข้มข้น แอด ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน