ป๋าเต็ด เล่านาทีเฉียดตาย พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต แพทย์เผย มาช้าโอกาสเสียชีวิตสูง!

วันที่ 15 ต.ค. ที่ห้องประชุม บัญชาล่ำซำ ชั้น 6 อาคาร 2 โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เจ้าพ่อเฟสติวัลขวัญใจวัยรุ่น พร้อมด้วย นพ.ไพฑูรย์ จองวิริยะวงศ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า หลัง ‘ป๋าเต็ด’ เข้ารับการรักษาตัวด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยต้องรีบทำการผ่าตัดด้วยวิธีการทำบอลลูน และใส่ขดลวดหัวใจไว้ เมื่อวันเสาร์(13 ต.ค.) ที่ผ่านมา

ป๋าเต็ด

เจ้าพ่อเฟสติวัลยังยิ้มได้ หลังผ่านนาทีเฉียดตาย

โดย ป๋าเต็ด เผยว่า “ก่อนอื่นขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วงเป็นใย ตอนแรกที่เกิดเหตุการณ์คือเมื่อวันเสาร์ ผมเพิ่งอาบน้ำเสร็จลงมาทำกิจวัตรประจำวัน คือจะลงมาชงกาแฟกิน พอลงมาถึงห้องครัว ก็รู้สึกได้ว่ามีเหงื่อซึม ทั้งที่เปิดตู้เย็นอยู่ อากาศไม่ร้อน แต่ยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอะไรมากนะ ก็ปิดตู้เย็น ไปเปิดเครื่องชงกาแฟ จังหวะนั้นเริ่มรู้สึกว่าแน่นหน้าอกมาก เหงื่อไหลเยอะขึ้น มีอาการวิงเวียนรู้สึกบ้านหมุน ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร คิดว่าคงขาดอากาศ เลยรีบเดินออกไปหน้าบ้านเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ปรากฏไม่ดีขึ้น กลับรู้สึกแน่นหน้าอกมากขึ้น เหมือนมีคนมานั่งทับหน้าอก เลยตัดสินใจโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ ชื่อหมอเอี้ยง ซึ่งก็ทำงานที่สมิติเวชที่นี่ด้วย ผมเล่าอาการให้ฟัง หมอเขาก็บอกให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้เขาตรวจคลื่นหัวใจทันที เพราะเชื่อว่ามีอาการผิดปกติในเรื่องหัวใจแน่ๆ ตอนนั้นผมวางสายปุ๊บก็ตะโกนเรียกภรรยาให้รีบขับรถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด บ้านผมอยู่แถวสุขาภิบาล 3 คือก็มีโรงพยาบาลที่ใกล้กว่านั้น แต่พอตอนนั้นผมขึ้นมาบนรถแล้วภรรยาบอกอาการผมแย่มาก หน้าซีด เดินขึ้นรถยังจะแทบไม่ไหว มองไม่ค่อยเห็น ภรรยาเลยตัดสินใจมาสมิติเวชที่สุขุมวิทแล้วกัน เพราะมีประวัติเรารักษาที่นี่เป็นประจำ ถึงแม้จะไกลหน่อย แต่โชคดีที่มันวันหยุดยาวแล้วเส้นทางที่วิ่งมันสวนทางกับคนส่วนใหญ่ที่จะออกนอกเมือง เลยมาถึงที่นี่ในเวลาประมาณ 20 นาที”
ป๋าเต็ดกล่าวต่อ “ตอนแรกผมยังงงๆ ว่าตกลงเราเป็นอะไร แต่เพื่อนบอกให้มาตรวจคลื่นหัวใจเราก็มา ไม่ได้เป็นแผนกฉุกเฉินด้วยนะ เป็นแผนกหัวใจ จำได้ว่าเข้ามาตอนนั้นคนน้อย ผมอาจจะเป็นผู้ป่วยคนเดียว แล้วภรรยาอาจจะโทร.มาแจ้งไว้ก่อน มาถึงปุ๊บเขาก็พาผมไปในห้องตรวจคลื่นหัวใจ เขาเอาเครื่องมือต่างๆ มาติดตามตัวแล้วต่อไปที่จอ ผมรู้สึกได้ว่า เหมือนพอเขาเห็นตัวเลขบางอย่างบนจอ ทั้งภรรยาและหมอที่ดู อาการเปลี่ยนเลยจากตอนแรกที่ดูชิลชิลมาก กลายเป็นทุกอย่างรีบหมด โทร.สั่งนู่นนี่เต็มไปหมด ต้องเปิดห้องนี่ ติดต่อคุณหมอคนนั้น มันเหมือนดูหนังอยู่แล้วกลายเป็นกดกรอให้เร็วขึ้น มีคนเต็มไปหมด เอาอะไรมาติดผม แล้วยกเราเปลี่ยนเตียง และเข็นผมออกจากห้องนั้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผมเขียนในเฟซบุ๊กว่าเหมือนรถเมล์สาย 8 เลย คือเหมือนจริงๆ นะ ผมไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่เข็นเตียงวิ่งสุดฝีเท้า จนตอนนั้นผมห่วงเรื่องหัวใจน้อยลง แต่ห่วงว่าเตียงจะคว่ำมากกว่า ช่วงเข้าโค้งแล้วเขาไม่ลดความเร็วเลย แต่ก็ปลอดภัยนะครับ เชื่อว่าพนักงานท่านนั้นมีประสบการณ์ในการทำอะไรรวดเร็วอย่างนี้อย่างดี”

ป๋าเต็ด

ภาพที่โพสต์หลังได้รับการผ่าตัด

“ผมก็โดนเข็นมาที่ห้องสวนหัวใจ ตอนแรกผมก็ยังงงอยู่ว่าเขาจะทำอะไร แล้วให้ผมเซ็นเอกสารเต็มไปหมด แล้วตอนนี้ผมจะต้องถูกทำอะไรครับ คุณหมอไพฑูรย์ก็มาบอกผมว่ากำลังจะเจาะเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาเพื่อฉีดสี เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถ้าเกิดมันแย่ก็ต้องทำการบอลลูน พอรู้แค่นั้นผมก็โอเคครับ เริ่มทำได้เลย ซึ่งทำอย่างรวดเร็วมาก พอกระบวนการนั้นเกิดขึ้น อาการแน่นหน้าอกก็หายไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่าหายไปตอนอยู่บนเตียงที่ห้องผ่าตัดเลย หลังจากนั้นก็ออกมาพักที่ห้องไอซียู อาการดูปกติมากแค่ว่าคุณหมอไม่ให้ขยับขาขวาซึ่งเป็นช่องทางที่เครื่องมือเข้าไป เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ผมถึงได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังผ่านช่วงเฉียดตายเลย รู้สึกแค่ว่าโชคดี ในทุกขั้นตอนมันมีความโชคดีอยู่มาก โชคดีที่มีเพื่อนเป็นหมอ โทร.หาเพื่อนได้ ถ้าไม่มีเพื่อนเป็นหมอผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ อาจจะนั่งพักอยู่ที่บ้านเฉยๆ โชคดีที่ภรรยาตัดสินใจขับรถมาที่สมิติเวช โชคดีที่เจ้าหน้าที่ทีมโรคหัวใจของสมิติเวชทำงานเร็วมาก เข้าขากันดีมาก ด้วยความที่หน้ามืดอยู่ แต่ผมก็เห็นว่ามีคนเยอะมาก แทบจะไม่มีที่ยืน เหมือนฝึกซ้อมกันมาอย่างดี ตัดสินใจเร็ว โชคดีที่มีคุณหมอเก่งๆ มาช่วยผม ตั้งแต่ผมเริ่มเจ็บ จนถึงโรงพยาบาล จนทำพิธีการบอลลูนใช้เวลาแค่ 40 กว่านาที ถ้ามันช้ากว่านั้นมันจะแย่เลยทีเดียว” เจ้าพ่อเฟสติวัลกล่าว

ป๋าเต็ด

ป๋าเต็ด พร้อมนายแพทย์ไพฑูรย์ แถลงอาการล่าสุด

ด้าน นายแพทย์ไพฑูรย์ เสริมว่า “ทางทีมแพทย์เรามีคุณหมอหลายท่าน อย่างแรกต้องแสดงความดีใจกับทางคนไข้ที่ผลการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าพูดกันตามจริงแล้วด้วยภาวะที่คนไข้มา มาด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วก็มีภาวะช็อกมาด้วย ความดันตอนนั้นน้อยกว่า 90/60 ตอนแรกเราคุยกันว่าจะเข้าทางแขนขวาด้วยซ้ำ อาการแย่ลงแล้วความดันต่ำมากจนหมอต้องเข้าที่ตรงขาหนีบข้างขวา เพราะว่ามันจะมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถเพิ่มความดันได้ ตอนนั้นชีพจรก็เริ่มช้าลงมาก พวกนี้เวลาที่คนไข้มาด้วยอาการเจ็บหน้าอก โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลจะมีโปรโตคอลสำหรับคนไข้ที่เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เวลาเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน ไม่ว่าจะมีกี่คิวก็ตาม เจ็บหน้าอกเฉียบพลันจะทำการใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน แล้วคุณหมอก็จะดูเลย ก็ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ตั้งแต่คนไข้มาเราก็วินิจฉัยแล้วว่าเป็นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วเราจะมีโปรโตรคอลสำหรับสวนหัวใจทันทีเลย คนไข้มาถึง 12.30 น. เราก็เริ่มทำกันตอน 13.00 น. สุดท้ายเราก็เปิดสำเร็จในเวลา 15นาที รวมเวลาทำเคสนี้ก็ประมาณ 45 นาที ก็ได้รับผลการรักษาที่ดี แต่สำหรับที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ผมก็คิดว่าในคนไทยเราจะมีพวกความดัน ไขมัน การสูบบุหรี่ ที่เรายังมีอยู่ แล้วก็บางทีเราจะคิดว่าความดันสูง หรือไขมันในเลือดสูง อาจจะไม่ต้องรักษา เพราะอาการมันไม่มีอะไร แต่ว่ามันก็สามารถมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือสมองขาดเลือดเฉียบพลันในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นคำแนะนำในทีมของหมอก็อยากจะให้ตรวจร่างกายประจำ ดูเรื่องความดัน ไขมัน ถ้ามีการรักษาก็จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ในอนาคตได้ เรื่องบุหรี่ด้วย ก็ต้องพยายามหยุดสูบบุหรี่ ส่วนประเด็นในเฟซบุ๊กที่บอกว่ารีบร้อนมากโกนขนแค่ครึ่งเดียว สาเหตุคือเวลาที่มันเสียไปคือกล้ามเนื้อ ของคนไข้ที่ตายไปเรื่อยๆ ความดันก็ต่ำลงมาก ทีมของหมอก็เป็นคนสั่งเองว่าต้องรีบแล้ว เอาแค่นี้พอ”

ป๋าเต็ด

ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรม

ถ้ามาหาคุณหมอ ควรจะต้องภายในกี่นาทีเพื่อในการรับการรักษา?
นายแพทย์ไพฑูรย์ “ปกติ สมมติว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แบบคุณยุทธนา ก็ตั้งแต่ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือมาโรงพยาบาล จนถึงได้รับการสวนหัวใจ ขอน้อยกว่า 60 นาที ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการสวนหัวใจฉุกเฉินได้ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ต้องส่งคนไข้ต่อก็ขอน้อยกว่า 90 นาที ส่วนถ้าป๋าเต็ดมาไม่ทัน พูดตามตรงโอกาสที่จะเสียชีวิตก็ 50-60 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนั้นความดันต่ำมากเลยครับ
เคสนี้นอกจากเรื่องบุหรี่แล้วต้องระวังเรื่องอื่นอีกไหม?
นายแพทย์ไพฑูรย์ “เรื่องความดันและไขมันในเลือดสูง ที่บางทีเรามาเช็กอัพว่าเราเจอว่าเป็นไขมันแต่เราก็ไม่รักษา คิดว่าเอาไว้ก่อน แต่ถ้ามันมีข้อบ่งชี้ของการรักษา การที่เราปล่อยเอาไว้ก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ซึ่งบางครั้งก็เสียชีวิตเฉียบพลันได้ อย่างที่เราได้ยินข่าวเรื่องตีกอล์ฟ หรือวิ่งมาราธอนแล้วเสียชีวิตเฉียบพลัน”
ป๋าเต็ด “เรื่องการกินก็สำคัญ ส่วนใหญ่ผมโดนดุเรื่องสูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีไขมันเยอะ ทานอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ ออกกำลังกายน้อย ผมทำทุกอย่างที่ไม่ควรทำ ถามว่ามีโรคประจำตัวไหม จริงๆ เป็นคนที่มีน้ำตาลสูงอยู่แล้ว มีไขมันในเส้นเลือดค่อนข้างสูง และเคยรักษาตัว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เหลวไหล ไม่มาหาคุณหมอ ไม่มาตรวจสุขภาพ มันเลยไม่ได้ยาที่จะต้องทานเป็นประจำ ตอนนี้เลยเป็นการเตือนครั้งรุนแรง ว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมากๆ”
วินาทีนั้นคิดว่าจะรักษาทันไหม?
ป๋าเต็ด “ตอนอยู่ในรถไม่คิดเรื่องเสียชีวิตเลยครับ แค่รู้สึกว่ามันต้องเป็นอะไรผิดปกติ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวมาถึงมือหมอก็คงจะหาย ไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย จนพอเขาเริ่มเข็นเข้าห้องผ่าตัด ถึงรู้สึกว่า เฮ้ย ซีเรียสว่ะ ปกติตรวจแล้วให้นอนพักเอายาไปกิน แต่ครั้งนี้ไม่ เข็นพุ่งเข้าห้องผ่าตัดเลย ระหว่างเลี้ยวผ่านร้านกาแฟยังคิดว่ามีชารสใหม่ จะฝากภรรยาซื้อเขาจะซื้อถูกไหมนะ ยังไม่ได้รู้สึกว่าอาการซีเรียสมาก จนกระทั่งทำเสร็จแล้วถึงได้คุยกับคุณหมอในทีมทุกท่านที่ค่อยๆ เล่าให้เราฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วรู้สึกว่าเราเกือบตายเลย ถ้าสมมติว่าตอนเช้าที่ผมเหงื่อออก แน่นหน้าอกแล้วไม่โทร.หาเพื่อนที่เป็นหมอ ก็ไม่คิดว่าจะมาโรงพยาบาล เต็มที่ก็คิดว่านั่งพักล้างหน้าล้างตา เอายาดมมาดม ซึ่งแปลว่ามีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ที่บ้าน คงมาโรงพยาบาลไม่ทัน คือช่วงที่ผ่านมา 3 วัน เหมือนผมเข้าเรียนโรงเรียนสุขภาพใหม่ เกือบทุก 3 ชั่วโมงจะมีคุณหมอแผนกต่างๆ หมุนเวียนมาพูดคุยกับผม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแนะนำในการที่ต่อไปนี้จะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างไรบ้าง เรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลย เรื่องหนึ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือเรื่องเลิกบุหรี่ ต่อมาจะมีเรื่องอาหารที่มีไขมันเยอะ น้ำตาลเยอะ ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่ผมขอไว้ดื่มกาแฟต่อได้ไหม ดื่มกาแฟผมไม่ใส่น้ำตาลอยู่แล้ว หมอแต่ละท่านจะบอกไม่เหมือนกัน บางท่านใจอ่อนบอกทานได้บ้าง แต่อย่าใส่น้ำตาล นอกนั้นก็เป็นเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งอันนี้ก็คงต้องปรึกษามากหน่อย เพราะช่วงแรกผมคงออกกำลังกายแบบออกแรงเยอะไม่ได้ วิ่งแบบพี่ตูนไม่ได้ อาจจะเริ่มแบบเบาๆ ก่อน”

ป๋าเต็ด

เตรียมร่างกายพร้อมงานใหญ่ปลายปี

หลังจากนี้ต้องดูแลยังไงบ้าง?
นายแพทย์ไพฑูรย์ “หลังจากนี้เราวางแผนว่าประมาณวันพฤหัสบดีก็จะให้คุณยุทธนากลับบ้านได้ ส่วนต่อไปก็ต้องทานยาให้สม่ำเสมอ ในเวลาหลังใส่ขดลวดมันก็มีโอกาสเหมือนกันที่ขดลวดจะตัน ก็จะมียาต้านเกล็ดเลือด ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เราจะต้องป้องกันไม่ให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในอนาคต ความดันสูง ไขมันสูง แล้วก็เรื่องเบาหวาน บุหรี่ ทั้งหมดนี้เราก็พยายามงดปัจจัยของคนไข้ เพื่อให้ครั้งต่อไปจะได้ไม่เป็นอีก ส่วนเรื่องกาแฟช่วงแรกอาจจะต้องงดไปก่อน หัวใจเพิ่งจะขาดเลือดมา หมอไม่อยากให้หัวใจเต้นเร็วอีก”
ตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่หมดเลยใช่ไหม?
ป๋าเต็ด “ใช่ครับ ก็คงต้องอย่างนั้น มันเตือนค่อนข้างแรง รู้สึกดีใจอย่างหนึ่งที่ข้อความที่โพสต์ลงไปในเฟซบุ๊ก จริงๆ ความตั้งใจเรารู้เดี๋ยวจะมีเพื่อนเรามาถามอาการมากมาย ตอนนั้นเพิ่งออกจากห้องผ่าตัดมาได้ไม่กี่ชั่วโมง ความจำมันยังดีอยู่ก็เลยบันทึกไว้ทั้งหมด พอโพสต์เสร็จก็หลับไป ตื่นมาคนมาแชร์โพสต์กันเยอะ ตอนเช้าเป็นข่าวทุกช่อง จนรู้สึกว่าขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง และดีใจจริงๆ ที่มันเป็นประโยชน์ได้ เพราะบางเรื่องมันแค่เรามัวพะวักพะวนนิดเดียว มันอาจจะทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนเป็นเรื่องชีวิตเลยทันที ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ ผมเป็นเหลวไหลเรื่องพวกนี้ แต่เอาเป็นว่าเหตุการณ์นี้ค่อนข้างเตือนเรา ทุกอย่างมันส่งผลหมดเลย ทุกสิ่งที่เราสนุกกับการทานอาหารอร่อย คนที่มีอาการแบบนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นคนรูปร่างใหญ่ บางคนก็รูปร่างปกติแต่ว่าก็สามารถมีคอเลสเตอรอลสูงได้ มันดีกว่าแน่ถ้าเราค่อยๆ ปรับ ไม่ต้องรอให้โดนเตือนหนักๆ แต่อย่างที่บอกขณะที่พูดยังไม่กล้ารับปากคุณหมอว่าต่อไปนี้จะทำได้ตามคุณหมอสั่งหรือเปล่า เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะว่ามันเป็นวิธีที่ควรจะเป็น เพียงแต่ว่าเราไปทำอะไรที่มันเว่อร์โดยตลอด”

ป๋าเต็ด

แฟนๆ แห่ให้กำลังใจ หลังทราบข่าวผ่าตัดด่วน

หลังจากนี้จะกลับมาลุยงานอีกเมื่อไหร่?
ป๋าเต็ด “ปลายอาทิตย์คงต้องเริ่มมีการประชุมอะไรที่ค้างคาอยู่ แต่เราจะพยายามไม่เดินเยอะ ซึ่งงานส่วนใหญ่ผมคือนั่งในห้องประชุม แต่ก็จะพยายามเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานใหญ่ปลายปี บิ๊กเมาน์เท่น แต่อาจจะเดินน้อยกว่าปีที่แล้ว”
งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด งานกิจกรรม ความเครียดจะมีผลต่อเรื่องนี้ไหม?
นายแพทย์ไพฑูรย์ “ปัจจัยเรื่องความเครียดก็มีผลทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ แต่ในเรื่องของอาหารเราจะเห็นว่าบางคนกินเท่าเราแต่ไขมันไม่สูง อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพันธุกรรม อาการของโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ฉะนั้น ควรตรวจร่างกายประจำปี ถ้าไขมัน คอเลสเตอรอล น้ำตาล สูงนิดหน่อยก็อาจจะลองปรับพฤติกรรม ลดอาหารไขมันสูงลงก่อน ถ้าตรวจไปหลายทีแล้วก็ยังสูงอยู่ก็น่าจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยว ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าต้องเริ่มใช้ยาก็เริ่มไป”
อาการที่เป็นเรียกภาวะหรือเป็นโรคประจำตัวไปแล้ว?
นายแพทย์ไพฑูรย์ “เรื่องของหัวใจขาดเลือดถือว่าเป็นโรคหัวใจแล้ว ส่วนไขมันในเลือดสูงคือโรคประจำตัว”
ป๋าเต็ด “ต่อไปเวลากรอกโรคประจำตัวต้องติ๊กให้หมด หัวใจ เบาหวาน ความดัน”
ยังรู้สึกกลัวมั้ยว่าชีวิตต่อจากนี้ต้องมีเป้าหมายยังไง?
ป๋าเต็ด “ผมว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว ถ้าเกิดเราเป็นอะไรก็จะรู้สึกเป็นห่วงครอบครัว เป็นห่วงลูก ก่อนหน้านี้เมื่อ 5-6 ปีก่อนผมเคยป่วยหนักมาทีนึงแล้ว แต่ไม่หนักถึงขั้นเฉียดตายแบบนี้ นั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตั้งใจดูแลตัวเองมากขึ้น ผมว่าผมอายุไม่น้อยแล้ว แต่เมื่อเทียบกับคนที่มีภาวะแบบนี้ ถือว่าผมอายุน้อยมากที่ต้องมาติ๊กครบทุกข้อ แปลว่าผมต้องปรับปรุงตัวอย่างรุนแรง บางอย่างไม่รู้เรียกสายไปหรือยังเพราะเป็นไปแล้ว ก็คงทำให้ไม่เป็นเพิ่ม ใช้ชีวิตให้มีความสุขเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง”

 

รูปประกอบจาก : wititpong_

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน