เจมส์ เรืองศักดิ์-ครูก้อย ฝากตัวอ่อน เตรียมขยายครอบครัว มีลูกคนที่2 ต้นปี 65 ฝากข้อคิดถึงคนมีลูกยาก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากยอมรับปัญหา ก็สามารถแก้ได้

เตรียมขยายฐานครอบครัวให้ใหญ่ขึ้นอีก สำหรับครอบครัวของ นักแสดงหนุ่มชื่อดัง “เจมส์ เรืองศักดิ์” และภรรยาสุดที่รัก “ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์” หลังจากที่มีทายาทเป็นลูกสาวสุดน่ารัก “น้องเมดา” มาเป็นโซ่ทองคล้องใจ ล่าสุด คุณพ่อเจมส์ ได้จูงมือภรรยา ครูก้อย ไปฝากตัวอ่อน เพื่อเตรียมตัวมีลูกคนที่สอง ต้นปี 65

โดย เจมส์ และครูก้อย ได้เปิดใจกับ ข่าวสดบันเทิงออนไลน์ ถึงการเตรียมมีลูกคนที่2 ที่แง้มว่าจะเป็นลูกชาย พร้อมทั้งเผยถึงกรณีที่เคยโดนหาว่ามีลูกยาก ไร้น้ำยา

 

เตรียมจะมีลูกคนที่2 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า?

เจมส์: “ตามแผนเรากะจะมีลูก3คน คนแรกคือน้องเมดา คือครูก้อยเป็นผู้ที่เข้าข่ายมีบุตรยาก ก็เลยเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์”

ครูก้อย: “น้องเมดาตอนนี้2ขวบครึ่ง เราก็เลยกะว่ากำลังจะมีคนที่2เร็วๆนี้ คือประมาณต้นปี 65 คือใส่ตัวอ่อนในตอนนั้น เพราะว่าตอนนี้ก็มีตัวอ่อนที่คัดโครโมโซมผ่านแล้ว หญิงหนึ่งคน ชายหนึ่งคน เหลือแต่ขั้นตอนเตรียมผนังมดลูก แล้วก็ย้ายตัวอ่อนกลับแค่นี้เอง”

หญิงหนึ่งคน ชายหนึ่งคน คือเราตั้งใจจะทำแฝดหรือทีละคน แต่ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้?

ครูก้อย: “3คน แต่ไม่ใช่เวลาเดียวกัน คือคนที่2 จะใส่ตอนต้นปี 65 เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังต่อเติมบ้าน จะเสร็จประมาณช่วงปลายปี แล้วก็ต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ถึงจะไปรับน้องอีกคนหนึ่งมาใส่”

เจมส์: “ต้องบอกอย่างนี้ก่อนนะครับว่า ที่รู้เพศไม่ใช่ว่าเราเลือกเพศได้ แต่ว่าเราตรวจโครโมโซมทางวิทยาศาสตร์ การตรวจโครโมโซมมันจะรู้เพศโดยอัตโนมัติเท่านั้นเอง”

ครูก้อย: “มันเป็นผลพลอยได้ แต่สุดท้ายแล้วการใส่ตัวอ่อนก็ใส่ตามความแข็งแรงของตัวอ่อนที่เรามี”

ก็เรียกว่าไม่ตื่นเต้นแล้วสำหรับคนที่สอง?

ครูก้อย: “รอบสองความตื่นเต้นจะไม่ได้ตื่นเต้นแล้ว เพราะว่าเรารู้วิธีการทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่การเตรียมตัวว่าจะต้องบำรุงไข่ยังไงให้เราสามารถเก็บไข่ได้อย่างมีคุณภาพ เวลาเก็บไข่เรียบร้อยแล้ว เวลาเลี้ยงตัวอ่อนควรจะเอาตัวอ่อนไปคัดโครโมโซมก่อน เพราะว่าผู้หญิง 35 ปีเป็นต้นไป มันจะมีความผิดปกติของโครโมโซมค่อนข้างเยอะ

ถ้าเราใส่ตัวอ่อนที่ไม่ได้คัด โอกาสที่จะติดแล้วก็หลุดหรือว่าแท้งมีสูง เพราะว่าครูก้อยท้องแรกก็เคยแท้งมาแล้ว จากการปล่อยธรรมชาติ เพราะอายุเราก็มาก แล้วปีนี้ 38 แล้ว คือเราจะรู้วิธีเซฟให้ลูกมาเกิดแบบแข็งแรงที่สุด รวมถึงการบำรุงตัวเอง ท้องสองก็จะรู้หมดแล้ว เพราะท้องแรกกว่าจะได้มา2-3ปี ลองผิดลองถูก ส่วนท้องสองจะไว เพราะจับทางได้หมด”

เจมส์: “คือไม่ได้ตื่นเต้นในกระบวนการ แต่ว่าตื่นเต้นที่เรากำลังจะมีลูกชาย เรามีลูกสาวมาตลอด ก็จะชินกับการเลี้ยงลูกสาว สอนยังไง ดูแลเขายังไง แต่พอเป็นลูกชาย เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองวิธีการสอนใหม่หลายอย่าง”

 

 

คนที่สองวางไว้ว่าต้นปีหน้า แล้วคนที่สามคิดล่วงหน้าไว้หรือยังว่าจะมีช่วงไหน?

เจมส์: “คนสุดท้ายก็ต้องดูในส่วนของคุณแม่ก่อน”

ครูก้อย: “เพราะว่า ณ วันนั้น ครูก้อยน่าจะอายุประมาณ 41 แล้ว ก็ดูว่า ณ เวลานั้น ร่างกายเราพร้อมที่จะมีอีกคนหนึ่งได้ไหม ถ้ามีได้ก็ยังอยากจะมีค่ะ

เพราะอยากเก็บให้ครบ เพราะว่าเราอุตส่าห์ได้มาแล้วที่แข็งแรงสองคน อยากเก็บให้ครบ แต่สุดท้ายต้องดูว่าร่างกายเรารับได้ไหม”

แต่ตอนนี้ก็คือพร้อมที่จะต้อนรับคนที่2อย่างเต็มที่แล้ว?

ครูก้อย: “ร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม รอแค่บ้านเสร็จอย่างเดียวตอนนี้”

เจมส์: “คือเราค่อนข้างวางแผน คือให้ลูกคนแรกได้รับเวลาของเราอย่างเต็มที่ที่สุดก่อน ก่อนที่จะมีคนที่สอง เพราะว่าบางที ถ้าเรามีติดกันเกินไป

บางครั้งคนแรกอาจจะยังไม่ได้รับความรักหรือเวลาอย่างเต็มที่เลย คนที่สองก็จะมาแชร์ไปแล้ว มันก็จะรอจังหวะพอดีเลย พอเมดาอายุ 3 ขวบ แล้วพอมีน้องอีกหนึ่งคน ตอนที่เมดา 4 ขวบ ก็พอดีเลยครับ”

ครูก้อย: “เพราะว่าข้อดีของการมีลูกยาก คิดว่าทำตามวิธีทางวิทยาศาสตร์มันค่อนข้างที่จะกำหนดแผนได้ คือสิ่งที่เราต้องไม่ช้าคือในเรื่องของการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ เพราะไข่ของผู้หญิงมันขึ้นอยู่กับอายุ ถ้าอายุเยอะ ไข่ก็จะน้อยลง คุณภาพไข่ก็จะได้น้อยลง

เพราะฉะนั้นพอเรามีลูกทางวิทยาศาสตร์ ตรงนี้เราต้องรีบเก็บไข่ให้เสร็จเรียบร้อย พอถึงกระบวนการใส่ตัวอ่อนกลับ จะยื่นไปกี่ปีก็ได้ เพราะเราเก็บได้5-6ปีเลยค่ะ

ก็เลยค่อนข้างวางแผนว่าลูกคนแรกอายุเท่านี้นะ คนที่สองถึงจะมา เพราะครูก้อยอยากให้นมน้องเมดาแบบเต็มที่ก่อน เพราะว่าตอนนี้เขา2 ขวบครึ่ง แต่ยังกินนมจากเต้าอยู่นะคะ”

พัฒนาการของน้องเมดาในวัย2ขวบครึ่งเป็นอย่างไรบ้าง?

เจมส์: “พัฒนาการค่อนข้างดีเลยครับ อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลาแบบนี้ เป็นเวลาที่พ่อแม่อยู่บ้าน แล้วให้เวลาอยู่กับลูกแบบเต็มที่ 100เปอร์เซ็นต์ เลยทำให้พัฒนาการของเขาค่อนข้างดี มีเวลาอ่านนิทานให้เขาฟัง

มีเวลากล่อมเขานอน มีเวลานอนกับเขา ตื่นมาก็เจอเรา เล่นกัน กินข้าว ทำอาหาร มีกิจกรรมด้วยกันแบบนี้ เลยทำให้พัฒนาการเป็นไปตามวัย

หรือบางอย่างอาจจะดีกว่าวัยด้วยซ้ำไป อย่างเช่นพัฒนาการในเรื่องของความจำ การพูด การใช้ภาษา หรือความมีมุมมองต่างๆ ก็ถือว่าเด็ก2ขวบครึ่ง ก็ค่อนข้างจะเร็ว”

เขารับรู้หรือยังว่าเดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะมีน้องให้เขาอีกคน?

เจมส์: “รู้ รู้ตลอด”

ครูก้อย: “คือครูก้อยบอกตลอด เดี๋ยวแม่จะใส่น้องแล้วนะ ถ้าแม่จะใส่น้อง น้องเมดาต้องเลิกนมนะ เพราะว่าถ้าหนูดูดเต้าแม่ เดี๋ยวมดลูกจะบีบตัวแล้วน้องจะฝังตัวไม่ได้ คือเขาเข้าใจหมด”

เจมส์:“คือครูก้อย เขาทำเพจสำหรับผู้มีบุตรยาก แล้วให้คำปรึกษากับคุณแม่ผู้มีบุตรยาก คนติดตามหลักแสน แล้วเมดาเห็นคุณแม่ไลฟ์สดทุกวัน ก็นั่งดู

เขาก็เข้าใจหมดนะว่ากระบวนการเป็นยังไง อย่างเช่นเวลาที่บอกว่าแม่จะมีน้อง เขาก็บอกเองว่า เมดาจะเลิกกินนม เดี๋ยวมดลูกแม่จะบีบตัว”

ครูก้อย: “คือเขาก็รู้ว่าเขาเป็นหนูน้อยพิกซี่ เขามาจากไข่ใบสวย เขาเข้าใจ”

สำหรับการมีบุตรยากเป็นทางฝั่งของครูก้อยคนเดียว หรือของฝั่งพี่เจมส์ด้วย?

ครูก้อย: “หนักๆเลยจะอยู่ที่ครูก้อย ครูก้อยอยู่ในกลุ่ม PCOS (Polycystic ovary syndrome-ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก)

เชื่อว่ากลุ่มผู้หญิงเป็นกันเยอะมาก แต่บางคนไม่รู้ มีลักษณะของรอบเดือนผิดปกติ พอไปอัลตราซาวด์ในรังไข่ก็จะเจอถุงน้ำในรังไข่จำนวนมาก

ลักษณะคล้ายๆ ไข่เยอะ แต่ก็ถือเป็นไข่หลายๆ ใบที่ไม่ได้ตกตามธรรมชาติ แต่ต่อให้ตกติดแล้ว ก็มักจะหลุดง่ายหรือว่าแท้ง ซึ่งเราเคยเป็นอย่างนั้นมา

แต่พอครูก้อยศึกษาวิธีการว่าจะต้องบำรุงยังไง ต้องดูแลคุณภาพของไข่ยังไง สำหรับคนที่เป็น PCOS กินยังไงให้ไข่มีคุณภาพ

ดูแลยังไง กินยังไงให้ไข่เราอ้วน พอเราได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว ไข่ใบเล็กๆ พวกนั้นที่เราบำรุงแล้ว ก็ได้กลายเป็นไข่ที่มีคุณภาพ

และข้อดีของเรา ก็จะได้ไข่เยอะกว่าชาวบ้านเขา กว่าคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มอาการนี้ แต่ถ้าไม่ได้บำรุงไข่ ส่วนใหญ่ก็มักจะเก็บแล้วใช้ไม่ได้

ส่วนพี่เจมส์จะเป็นในแง่ของพักผ่อนน้อย เรื่องของการทำงาน เพราะตอนช่วงก่อนโควิด มีคอนเสิร์ตทุกคืน อาจจะเป็นในลักษณะที่เชื้ออาจจะวิ่งต่ำไป คุณหมอก็จะบอกว่ามาบำรุงหน่อยนะ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็ต้องให้เขาบำรุง เขาต้องกินของบำรุงที่ครูก้อยจัดให้เหมือนกัน

เขาก็กินตามหมดเขาไม่ได้บ่น คือก็ไม่ได้ให้ให้ผู้หญิงมารับภาระเรื่องของการมีลูกยากอยู่คนเดียว บางทีเราบำรุงผู้หญิงดีไปทุกอย่าง ไข่สวยแล้ว แต่พอไปเช็กสเปิร์มเชื้อดร็อป มันก็จะตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็ต้องบำรุงคู่”

 

 

เจมส์: “จริงๆ แล้ว คือการบำรุงต่อให้ไม่ได้ลูกก็คือได้สุขภาพที่ดี”

ก่อนหน้านี้พี่เจมส์เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้น้ำยา อยากให้พูดถึงมุมของครอบครัวที่มีบุตรยาก?

เจมส์: “จริงๆ การบูลลี่แบบนี้ มันเป็นเรื่องที่โบราณมาก เพราะปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก การไม่มีลูกไม่ได้แปลว่าไม่มีน้ำยา การมีบุตรยากของผู้ชาย ถ้าปัจจุบันและผู้ชายที่มีบุตรยากกล้าลุกขึ้นมายอมรับ ลุกขึ้นมาบอกว่าฉันมีปัญหา ก็ไปหาว่าปัญหามันคืออะไร

ทุกปัญหามีทางแก้หมดครับ แต่ที่มันแก้ไม่ได้เพราะไม่ยอมรับว่ามีปัญหา และไม่ยอมไปหาหนทางว่าปัญหานั้นมันมีทางแก้ยังไง มันก็เลยแก้ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าฉันไม่มีน้ำยา ฉันเป็นผู้ชายมีบุตรยาก แต่จริงๆ เปล่าเลย ปัญหาส่วนใหญ่หลายคนแก้ได้ 100 คน แก้ได้ 98คน”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน