ฟีเวอร์ไปทั้งพระนคร! สำหรับละครอิงประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 นอกเหนือจากคู่พระ-นาง โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ หรือ “พี่หมื่น”, เบลล่า-ราณี แคมเปน หรือ “แม่หญิงการะเกด” รวมถึงตัวละครต่างๆ ในเรื่อง, อุ้ย-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้เขียนนวนิยาย เจ้าของนามปากกา “รอมแพง”, ใหม่-ภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับ และบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่นฯ ผู้ผลิตละคร จะเป็นที่พูดถึงและโด่งดังเป็นพลุแตกแล้ว!

อีกหนึ่งคนสำคัญที่ลืมกล่าวถึงไม่ได้เลย นั่นคือ อ.แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทให้กับละครสุดฮอตเรื่องดังกล่าว ทั้งยังเป็นนักเขียนบทชั้นครู ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเขียนบทโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมหลายเรื่อง อาทิ คู่กรรม, นางทาส, สายโลหิต, ดอกส้มสีทอง, คือหัตถาครองพิภพ, ฟ้าใหม่ เป็นต้น ล่าสุด “ข่าวสดออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘อ.แดง-ศัลยา’ ถึงปรากฏการณ์ของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังฟีเวอร์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากๆ พร้อมแจงดราม่าหลัง “ผีการะเกด” โผล่มาทวงสัญญาแลขัดขวางความรักระหว่าง ‘เกศสุรางค์’ กับ “ขุนศรีวิสารวาจา” หรือ “พี่เดช” ในตอนที่ออกอากาศเมื่อคืนที่ผ่านมา(22มี.ค.)

ตอนเขียนบทละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” คิดไหมว่าพอออกอากาศแล้วกระแสจะฟีเวอร์ขนาดนี้?
“จริงๆ คนเขียนบทจะเดาไม่ได้เลยว่าละครเรื่องที่ตัวเองกำลังเขียนอยู่จะได้รับการตอบรับมากน้อยยังไง แต่พอจะรู้ว่าบางฉากน่าจะเป็นฉากที่ทำให้คนตื่นตาตื่นใจพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา หรือโกษาเหล็ก ซึ่งเป็นตัวละครที่มีตัวจริงและยังไม่เคยปรากฏในละครเรื่องใดมาก่อน กระแสความชื่นชอบชื่นชมที่มีต่อละครบุพเพสันนิวาสในตอนนี้ ส่วนตัวมองว่ามันมากกว่าคำว่าฟีเวอร์ แต่เป็นปรากฏการณ์และความมหัศจรรย์ ซึ่งถ้าจะพูดไปมันไม่ใช่อยู่ที่บทอย่างเดียว อาจจะพูดได้เลยว่าบทมีบทบาทค่อนข้างน้อยในเรื่องนี้ เพราะบทมันคือการเล่าเรื่อง เราก็เล่าแบบนี้ นักเขียนคนอื่นก็เล่าแบบนี้ แต่มันก็ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ ฉะนั้นมันจะต้องมีปัจจัยอื่น ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยบทอันเดียว แล้วเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องราวทำนองเดิม แต่ที่มันเกิดกระแสอันมหัศจรรย์แบบนี้ขึ้น เพราะเหมือนทุกคนใจผูกพันอยู่กับสิ่งนี้และให้ใจกับเรื่องนี้เต็มร้อย แค่น้ำปลาหวานก็ยังเอิกเกริกกันซะขนาดนี้ เริ่มจากบทประพันธ์ต้องยกความดีความชอบให้มากกว่าครึ่งและให้ไปเยอะมากเพราะมาแบบแข็งแรงมาก ฉะนั้นสิ่งที่คนเขียนบททำคือต่อยอดเติมขยายบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าไม่มีบทประพันธ์ที่แข็งแรงมาบทโทรทัศน์ก็คงไม่ดีได้ขนาดนี้ ต่อมาก็เป็นเรื่องการกำกับ การแสดงของนักแสดง การให้การสนับสนุนทุกอย่างก็บริษัทผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโลเกชั่น การจัดหาองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ เสื้อผ้าต่างๆ ไปถึงเรื่องการตัดต่อ การวางเพลง ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เรื่องยากแต่มันต้องลงทุน เพราะฉะนั้นถ้าผู้จัดฯ ไม่ลงทุนในสิ่งนี้หรือไม่รู้สึกว่าจะให้ประชาชนในสิ่งเหล่านี้ ละครมันก็ไม่เกิดขึ้นในลักษณะที่ครบสมบูรณ์แบบนี้ คนที่ดูบุพเพสันนิวาสต้องดูทั้งก้อน อย่าไปแยกว่าอะไรดีกว่าอะไร เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนสอดคล้องกันไปทั้งหมด”

ย้อนถามถึงวันที่คุณหน่อง(อรุโณชา ภาณุพันธุ์)ติดต่อให้ ‘อ.แดง’ มาเขียนบทเรื่องนี้ มีความตื่นเต้นบ้างไหม?
“ด้วยความที่เราเขียนบทละครโทรทัศน์มาเยอะ เลยไม่ถึงกับว่าตื่นเต้นอะไรมาก แค่รู้ว่าพอละครมาถึงมือเราจะทำยังไง วิธีการจะถ่ายทอดตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเป็นเสียงจึงเป็นสิ่งที่เรารู้ดีที่สุดเลยว่าควรจะทำยังไง เวลาเขียนบทละครเรื่องอื่นๆ ก็ทำไปตามที่เรารู้ ปกติหนังสือเล่มหนึ่งที่จะเอามาทำละครอ่านแค่ 2 หนก็ทะลุปรุโปร่งแล้ว แต่เรื่องบุพเพสันนิวาสอ่านแล้วอ่านอีกอยู่นั่น อ่านจนหนังสือมันเน่า(ยิ้ม) ขีดวนเวียน ปะว่าข้อมูลหน้าไหนๆ จนหนังสือรกรุงรังมาก แล้วเวลาได้หนังสือมาอ่านก็เลือกว่าเหตุการณ์อะไรๆ ที่จะเอามาทำบ้าง พอหยิบขึ้นมาวางปั๊บความยากเกิดขึ้น 2 ประการ ประการที่หนึ่งคือเรียงลำดับเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมากเพราะการจดบันทึกของประวัติศาสตร์บางทีไม่จดวันเวลา พอจัดลำดับเวลาเรียบร้อยแล้วก็จะมาเลือกว่าเหตุการณ์ไหนที่ต้องขยาย เหตุการณ์ไหนไม่จำเป็น พอเลือกได้แล้วว่าจะเล่าเหตุการณ์ไหนบ้าง ความยากประการที่สองจึงเริ่มขึ้น คือมหกรรมการอ่านการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ”

ค้นคว้าข้อมูลจากไหนบ้าง?
“จริงๆ เหมือนกับคุณรอมแพงเลย คือเป็นหนังสือชุดเดียวกัน เขาค้นนำร่องมาก่อน แต่พอเราจะทำในขั้นตอนของการเขียนบท สมมุติเหตุการณ์นี้อยากจะขยายให้มันละเอียดเราเองก็ต้องค้นข้อมูลให้มากกว่านั้น อย่างเหตุการณ์โกษาเหล็กตายอันนี้มีการค้นข้อมูลที่มากกว่า เพราะละครอิงประวัติศาสตร์คำพูดทุกคำของตัวละครที่เป็นตัวจริงต้องคือความจริงที่มีการบันทึกมาอย่างนั้น เราจะเขียนขึ้นเองไม่ได้ เช่นเป็นคนนิสัยยังไง อย่างโกษาเหล็กเป็นคนเก่งทุกอย่างและเป็นคู่บุญของสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่มีนิสัยชอบรับสินบน ในละครที่มีการพูดถึงตะลุ่มทองตะลุ่มเงินใส่ลูกไม้ที่มีคนมารับซื้อไป บางวันออกไปขายเป็นสิบๆ ตะลุ่ม ทั้งที่ ‘จันทร์วาด’ ซึ่งเป็นลูกสาวบอกให้นำไปคืนคนที่นำมาให้ แต่ว่าคุณหญิงนิ่มผู้เป็นแม่ก็ไม่คืน ไดอะล็อกที่คุณหญิงพูดทุกอย่างก็คืออุปนิสัยที่เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ ทุกคนที่พูดต้องคือความจริงในประวัติศาสตร์ เราต้องค้นและจดข้อมูลเอาไว้เพื่อนำมาใช้ การเขียนบทเรื่องนี้ถ้าเทียบกับละครเรื่องอื่นๆ ที่เป็นพีเรียดเหมือนกัน ถือว่าใช้เวลานานกว่าเกือบเท่าถึงสองเท่าตัว บางอย่างยังหาข้อมูลไม่เจอก็ต้องอ่านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอ แล้วเราเจอก็ไม่ได้เจอแบบนักประวัติศาสตร์เจอ แต่ต้องเจอสิ่งที่จะเอามาเป็นบทละคร นั่นคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทรกไปในคำพูดของตัวละคร

เขียนบทละครพีเรียดมาเยอะมาก แต่กับเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีความแตกต่างกับเรื่องอื่นๆ ยังไง?
“จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างกันมากนะคะ คือเป็นละครที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเหมือนกัน เพียงแต่บุพเพฯ มีรายละเอียดเยอะ ที่จริงเรื่องอื่นๆ ก็เยอะเหมือนกัน อย่างเช่นสายโลหิตก็เยอะมากเกี่ยวกับเรื่องการเสียกรุง ซึ่งต้องหาข้อมูลพอๆ กัน เพียงแต่บุพเพฯ จะเยอะในเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ประพันธ์เขียนไว้ ทำให้เราต้องค้นไปเยอะเพราะจะมีเรื่องของอาหารการกิน ภาษา วัฒนธรรมต่างๆ แล้วก็ไปถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ถามว่าในมุมมองของผู้เขียนบท คิดว่าอะไรเป็นเสน่ห์ที่ทำให้บุพเพสันนิวาสมีกระแสฟีเวอร์มากมายขนาดนี้ คือเราเห็นภาพที่คนในบ้านหลายๆ คนมานั่งร่วมกัน ดูละครด้วยกัน ซึ่งภาพนี้ไม่น่าจะมีเยอะมากนักสำหรับละครเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นเสน่ห์ของบุพเพฯ คือเป็นละครที่ทุกคนดูและหัวเราะด้วยกันได้ ซักถามกันได้ เล่าสู่กันฟังได้ ทุกคนจึงมีความสุขเพราะมันตอบโจทย์ทางจิตใจของคนได้เยอะ พ่อแม่ก็จะชอบใจที่เด็กๆ มาดูและมาซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในละคร

ปกติเวลาเขียนบทละครเรื่องไหน ต้องดูละครเรื่องนั้นด้วยไหม?
“ต้องดูค่ะ ดูทุกตอนทุกฉากด้วย ที่จริงแล้วต้องดูก่อนที่จะออกอากาศด้วยซ้ำ บางทีมีหลุดๆ อะไรไปก็จะได้บอกทีมงานก่อน แล้วที่หลุดมากที่สุดคือคำว่า “สวัสดี” ซึ่งมันไม่ได้เพราะในสมัยนั้นคำนี้ยังไม่เกิด เรื่องคำพูดเหล่านี้มันผิดไม่ได้ ถ้ามันผิดก็จะโยงมาถึงคนเขียนบทด้วย จะว่าไปทุกฝ่ายที่ทำละครเรื่องนี้ใช้พลังงานกันเยอะมาก เราอาจจะเป็นคนที่สบายที่สุด(ยิ้ม) เพราะเรานั่งอยู่กับที่ นุ่งชุดนอนเขียนไปเรื่อยๆ ไม่เหนื่อยอะไร การได้หยิบหนังสือค้นเปิดอ่านมันก็มีความสุข แต่พอไปเห็นการทำงานของกองถ่ายแล้วตรากตำกันมาก แม้แต่คุณอุ้ย(รอมแพง)ก็เหนื่อยมากเพราะเขาค้นมาเยอะแยะ ค้นมาให้เป็นพื้นฐานไว้เยอะมากเลยค่ะ”

ข้อหนึ่งที่สังเกตได้คือเวลา ‘อ.แดง’ เขียนบทเรื่องไหน จะไม่ทำให้มันผิดเพี้ยนไปจากที่เจ้าของบทประพันธ์เขียนไว้ในหนังสือ?
“ใช่ค่ะ อันนี้เป็นกฎประจำใจส่วนตัวของเรา คือไม่มีวันที่จะล้มนวนิยายของเขาแล้วเขียนขึ้นใหม่ ต่อให้นวนิยายเล่มนั้นมันจะหลวมๆ ไม่ค่อยมีเหตุมีผล หรือไม่มีที่มาที่ไป เราก็ต้องเอาของเขาไว้ให้อยู่ ส่วนเราก็หาอย่างอื่นมาประกอบให้เรื่องของเขามีเหตุมีผลขึ้นให้ได้”

ในสายตาของผู้ขียนบท มองว่า “พี่หมื่น” ที่เล่นโดย ‘โป๊ป-ธนวรรธน์’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ ที่เล่นโดย ‘เบลล่า-ราณี’ เล่นออกมาได้ดั่งใจไหม?
“เขาก็ได้ดั่งใจ แต่ถ้าถามว่าได้ดั่งใจมากกว่าคนอื่นมั้ย อันนี้ไม่รู้เพราะเราไม่เห็นคนอื่น คนอื่นมาเล่นก็อาจจะดีหรือไม่ดีกว่านี้ก็ได้ แต่ตอนนี้โป๊ปกับเบลล่าก็คือพี่หมื่นกับการะเกดที่ดีที่สุด ถือว่าเขาทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมาก เล่นกันละเอียด มีการตอบรับที่ดี ซึ่งตรงนี้ต้องมาจากผู้กำกับที่ดีด้วย โดยเฉพาะแอ๊กติ้งที่เป็นคอมเมดี้หน่อยๆ มันต้องอาศัยผู้กำกับที่จะดูจังหวะในการพลิกตัว เล่นสีหน้า และการพูด”

ทางพี่ใหม่(ภวัต พนังคศิริ)เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนที่คุยกับอ.แดง ตอนจะทำละครเรื่องนี้ มีการพูดกันว่า…เรามาทำมาสเตอร์พีซด้วยกัน” ตอนนี้เป็นตามนั้นไหม?
“ใช่ค่ะ มันคือมาสเตอร์พีซของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่มาสเตอร์พีซของบท เรียกว่าเป็นก้อนของชิ้นงานที่ถือว่าสมบูรณ์เพราะมันสอดคล้องกันไปหมด ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองและให้ใจกับมันเต็มร้อย แต่ละฉากมันยากมากแต่ทุกคนทำกันได้ อย่างฉากแข่งเรือเราไม่ได้คิดว่าจะทำใหญ่โตขนาดนั้น ซึ่งต้องยกให้คุณหน่องก่อนเลย เวลาเขียนละครให้คุณหน่องทีไรก็จะขอบคุณว่าเราเขียนไปแค่ไหนคุณหน่องก็ทำแค่นั้น บางทีทำมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เดี๋ยวต้องคอยดูฉากถวายสาส์นของราชทูตฝรั่งเศส ‘เดอ โชมองต์’ คือเขาส่งเทปมาให้ดูก่อน ตอนที่เขาแช่ภาพปุ๊บ เราปรบมืออยู่คนเดียว(ยิ้ม) ชอบมากเลยฉากนี้เพราะตอนแรกบอกเขาไปแล้วว่าไม่ต้องทำ เนื่องจากเขียนเป็นไดอะล็อกไว้แล้ว แล้วก็ให้เกศสุรางค์นึกถึงภาพที่ตัวเองเคยเห็นก็คือภาพนั้นแหละ เขาทำองศาเดียวกันเป๊ะ สมเด็จพระนารายณ์ฯ เหมือนกันเป๊ะเลยที่ทำมือลงมารับสาส์น ขนลุกจริงๆ ชื่นชม ‘ใหม่’(ผกก.)ทำดีมากๆ ไม่อยากให้คนดูพลาดเลยค่ะ”

มีฉากไหนตอนไหนที่เขียนแล้วรู้สึกชอบเป็นพิเศษที่สุด?
ชอบทุกฉากที่พระเพทราชากับสมเด็จพระนารายณ์ฯ เถียงกัน เพราะทุกฉากของสองพระองค์นี้เป็นฉากที่ยากมาก ไดอะล็อกทุกคำต้องเกิดจากการค้นคว้าและเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ฉะนั้นทุกฉากที่สองพระองค์นี้เถียงกันเป็นฉากที่สนุกมาก เขียนยาก แต่นักแสดงเล่นสนุก ออกมาแค่ 2 ฉากแต่เหมือนสะกดคนดูไว้อยู่หมัด เราชื่นชมคนที่เป็นนักแสดงว่าเขาเก่งกันจริงๆ ทำได้ยังไงทั้งโศก สลด ร้องไห้ ตลกขบขัน เถียงกัน ตบกัน ดูแล้วก็เชื่อว่าเขาเป็นตัวละครนั้นจริงๆ”

ละครเรื่องนี้ปลุกให้คนไทยมาสนใจประวัติศาสตร์ ทั้งยังต่อยอดไปหลายเรื่องมาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อาหาร เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่การศึกษา?
“ตอนนี้กระแสมันขยายวงกว้างไปมาก คงเป็นอารมณ์ร่วมโดยมีวัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่มันเป็นสื่อ อย่างอาหาร ชุดไทย ผ้าไทย สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้พฤติกรรมเหล่ามันเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ความสนุก และการกระทำร่วมกัน เราดีใจที่คนเล็งเห็นว่าบุพเพฯ ให้อะไรมากกว่าแค่เป็นละครให้ความบันเทิง แต่ยังให้ความรู้และต่อยอดไปเรื่องต่างๆ ได้ อันนี้คือความตั้งใจที่เราจะทำอยู่แล้ว แต่อยากจะบอกว่าเวลาที่เขียนบทไม่ได้ตั้งใจว่ามันจะอะไรขนาดนี้ แต่ทุกอย่างมันไปตามน้ำตามเรื่องของมันเอง อย่างเรื่องที่เกศสุรางค์จะไปเที่ยวในบทก็ไม่ได้ให้ตัวละครพูดกันขนาดนั้น เพราะเกศสุรางค์ต้องมีความรู้ของเขาอยู่เพราะเขาเรียนด้านโบราณคดีมา ฉะนั้นก็ต้องใช้วิธีการให้เขานึกถึงอาจารย์ของเขาตอนสอน ซึ่งมันเป็นวิธีการที่ดีเหมือนคนดูได้นั่งฟังไปด้วย พี่หมื่นเองก็ไม่ต้องพูดมากมายก่ายกอง แล้วถ้าจะให้เกศสุรางค์ถามแล้วถามอีกว่าตรงนั้นตรงนี้คืออะไร เดี๋ยวคนเขียนบทก็จะโดนอีกว่า…เกศสุรางค์เรียนมาแล้วยังมานั่งถามอยู่ได้ ปัญญาอ่อนหรือเปล่า! คนที่ทำหน้าที่เขียนบทจะต้องระวังในส่วนนี้ให้มาก ถ้าหลุดหรือพลาดเมื่อไหร่จะโดนทันที(ยิ้ม) แต่เวลาได้อ่านคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในกรณีที่เราผิดจริงๆ ก็เก็บเอามาแก้”

เรื่องนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์ส่วนไหนบ้างไหม?
“มีค่ะ แต่ไม่ได้มีเยอะ แต่ล่าสุดเมื่อคืนนี้(22มี.ค) ตอน 10 โดนเละเลย เรื่องที่ว่าทำไมต้องมีผีการะเกดมากมายก่ายกอง ปัญญาอ่อน วนลูปเป็นละครน้ำเน่าเลย ทั้งที่ออกมาแค่ 2-3 ฉากเอง แต่มันต้องมีเพราะมันเป็นคำสัญญาอะไรกันไว้ ซึ่งเราก็ได้ตอบไปในเฟซบุ๊กแล้ว ตอบเหมือนอารมณ์เสียนะ แต่นั่นคือคำตอบจริงๆ ใครที่อ่านบทประพันธ์เรื่องนี้จะพบว่าคุณรอมแพงเขียนเลยนะคะว่า เกศสุรางค์ไม่อยากจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของการะเกด เพราะร่างที่อยู่เป็นการะเกด ไม่ใช่เกศสุรางค์ ฉะนั้นเขาทำความดีโอเคเพราะการะเกดให้เขาทำ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเขาไม่ได้อยากจะเอาเลย เขาก็จะชะงักๆ เพราะเขารู้ว่าเขารักพี่หมื่นแล้วและพี่หมื่นก็รักเขา แต่ว่าเขาก็ยังมีอันนี้ติดอยู่ในใจตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เราอ่านจากหนังสือ ฉะนั้นเราก็ต้องจบอันนี้ว่าความรู้สึกในใจของเขาเกิดความไม่สบายใจที่จะมาเอาพี่หมื่นไปจากการะเกด การะเกดก็เลยต้องมาทวงแบบนี้ พอวันหนึ่งการะเกดรู้ว่าทุกสิ่งอย่างเป็นยังไงก็มาบอกว่า “ข้ายกคุณพี่ให้ออเจ้า เจ้าจงรับคุณพี่ไปเป็นของเจ้าเถิด” แล้วต่อจากนั้นก็มีฉากที่เกศสุรางค์ไปสวีตกับพี่หมื่น อันนี้ก็ไปติดตามชมกันอาทิตย์หน้านะคะ

เขียนบทละครเรื่องนี้แล้วประสบความสำเร็จท่วมท้นขนาดนี้ สร้างความกดดันให้กับการเขียนบทเรื่องต่อๆ ไปไหม?
ไม่กดดันหรอก ไม่เคยมีเรื่องไหนกดดันเพราะเราทำไปตามที่ต้องทำ ทำไปตามที่ทำเป็น(ยิ้ม) สุดท้ายก็อยู่ที่คนดูว่าจะชอบมากชอบน้อยขนาดไหน แต่ต้องบอกว่าละครที่มันดังๆ มาจากนวนิยายที่ดีๆ เรามองว่าตัวเองโชคดีที่ได้เขียนนวนิยายดีๆ หลายเรื่อง ใครเขียนคู่กรรมแล้วไม่ดังบ้างจริงมั้ย อีกอย่างเราก็ไม่ได้ขึ้นชื่อเป็นคนเขียนบทที่เก่งอะไร แต่โชคดีที่ได้เขียนนวนิยายดีๆ อย่างคู่กรรม สายโลหิต นางทาส อะไรเหล่านี้เป็นต้น”

ละคร “บุพเพสันนิวาส” ยังไม่ทันจบ แต่รอมแพงกำลังจะเขียนภาค 2 ชื่อว่า “พรหมลิขิต” แบบนี้ ‘อ.แดง’ จะรับหน้าที่เขียนบทเหมือนเดิมไหม?
“ไม่รู้เลย แก่แล้วไม่รู้ว่าจะเขียนได้หรือเปล่า(ยิ้ม) คอยติดตามแล้วกันค่ะ”

เขียนบทมาเยอะมาก มีเรื่องไหนที่ชื่นชอบที่สุดไหม?
“ชอบที่สุดคงไม่มี คือมันจะมีที่สุดในบางเรื่อง บางทีก็ชอบการผลิต ชอบเรื่อง ชอบการแสดง แต่ถ้าจะเค้นให้ได้จริงๆ ที่ชอบมากเป็นพิเศษคือเรื่อง “คู่กรรม” เมื่อปี 2533 ทั้งเรื่องของบทประพันธ์ เรื่องราว การกำกับ การแสดง ฉาก มันสมบูรณ์กลมกลืนไปหมดค่ะ”

ขอบคุณภาพ IG : broascastthaitv, Facebook : Salaya Sukanivatt

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน