ดอยบอย คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง มนต์รักนักพากย์ กวาด 4 รางวัล ต้องเต ซิวนักทำหนังหน้าใหม่ สัปเหร่อ ทำเงินสูงสุดแห่งปี

วันที่ 17 ก.ค. 67 ที่หอศิลป์แห่งชาติ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 32” ประจำปี 2566 จำนวน 19 รางวัล

ซึ่งผลการตัดสิน ดอยบอย คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ในขณะที่ อัด อวัช รัตนปิณฑะ จากภาพยนตร์ ดอยบอย ซิวรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ส่วนนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ ใบปอ ธิติยา จิระพรศิลป์ จากภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน

โดยภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักพากย์ สามารถกวาดรางวัลไปได้มากสุดถึง 4 รางวัล ดังนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดย นนทรีย์ นิมิบุตร, ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม โดย เอก เอี่ยมชื่น, ปิยะวิทย์ พลายเมือง, กำกับภาพยอดเยี่ยม โดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ตามด้วยรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม โดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์

สัปเหร่อ ซิวรางวัลภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี ประจำปี 2566

สำหรับนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ จั๊มพ์ พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ จากภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน(ไม่)สนิท, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมได้แก่ ทราย อินทิรา เจริญปุระ จากภาพยนตร์เรื่อง 4 Kings II

ขณะที่ ต้องเต ธิติ ศรีนวล ซิวรางวัลนักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ สัปเหร่อ ซึ่งก็คว้ารางวัลภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี ไปครองด้วย

ต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับฯ เรื่อง สัปเหร่อ คว้ารางวัลนักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี

นอกจากนี้ชมรมวิจารณ์บันเทิง ได้มอบรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ แก่คุณศุภวัฒน์ จงศิริ (ศุภักษร)

สรุปผล ผู้ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 ดังนี้

  1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ดอยบอย อำนวยการสร้างโดย สุภัชา ทิพเสนา, Steve Chen, Daniel Mattes, Davy Chou (เนรมิตรหนังฟิล์ม, Mobile Lab Project, Anti-Archive)
  2. ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ นนทรีย์ นิมิบุตร – มนต์รักนักพากย์
  3. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ ธิติยา จิระพรศิลป์ – เธอกับฉันกับฉัน
  4. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ อวัช รัตนปิณฑะ – ดอยบอย
  5. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมได้แก่ อินทิรา เจริญปุระ – 4 Kings II
  6. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ – เพื่อน(ไม่)สนิท
  7. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง – ปฏิภาณ บุณฑริก, คาลิล พิศสุวรรณ
  8. กำกับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ มนต์รักนักพากย์ – ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
  9. ลำดับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ เพื่อน(ไม่)สนิท – ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต
  10. ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ได้แก่ มนต์รักนักพากย์ – เอก เอี่ยมชื่น, ปิยะวิทย์ พลายเมือง
  11. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้แก่ มนต์รักนักพากย์ – ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
  12. เพลงจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ “รักแรก” – รักแรก โคตรลืมยาก (ประพันธ์โดย ‘อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์, ชลทัศน์ ชาญศิริเจริญกุล’)
  13. ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ The Last Breath of Sam Yan – เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ (Young Film TH)
  14. นักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (รางวัลมูลนิธิเอสซีจี) ได้แก่ ต้องเต ธิติ ศรีนวล – สัปเหร่อ
  15. ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับบุคคลทั่วไป ได้แก่ ภูมิกายา (The Physical Realm) – สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์, กฤษฎา ขำยัง
  16. ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับนักเรียน-นักศึกษา (รางวัลปัณณวิชญ์) ได้แก่ The End of Paralyzed – รชต สระทองเทียน, พสธร วัชรพาณิชย์
  17. ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ รับเหมาพเนจร (The Man and the Machine) – เกียรติพงษ์ ลงเย, ยิ่งยง วงศ์ตาขี่
  18. รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ ได้แก่ คุณศุภวัฒน์ จงศิริ (ศุภักษร)
  19. ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี (รางวัลคมน์ อรรฆเดช) ได้แก่ “สัปเหร่อ”

นนทรีย์ นิมิบุตร คว้าผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง มนต์รักนักพากย์

จั๊มพ์ พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ คว้านักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน(ไม่)สนิท

ดอยบอย รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน