เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น 1 ใน 8 กรรมการชุดเดิม ของ บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหนังสือแจ้งว่าเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ และต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุกบริษัทหลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง กรณีขวางการประชุมผุ้ถือหุ้น

โดยนายสุทธิชัย ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมทีมผู้บริหาร เนชั่นฯ ที่ สตูดิโอนาว แอด สยาม โดยระบุว่า เตรียมจะฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวคำสั่ง ก.ล.ต. เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ พร้อมเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ก.ล.ต. เนื่องจากมองว่าไม่เป็นธรรม ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง รายละเอียด กรณี ก.ล.ต.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งชุด จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของกรรมการแต่ละคน แต่การที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจำนวน 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที คงเหลือกรรมการบริษัทที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เพียง 2 คน คือ นายวัชรา ตันตริยานนท์ และนางพิจิตรา มหาพล ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของเนชั่นกรุ๊ป โดยตรง ทั้งในเรื่องของเครดิตและสินเชื่อจากธนาคาร การดำเนินธุรกิจปกติที่จะต้องหยุดชะงัก สร้างความเสียหายต่อเนื่องต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัท นอกจากนี้กรรมการที่เหลืออยู่เพียง 2 ท่าน ไม่เพียงพอที่จะจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ครบองค์ประชุมเพื่อกระทำกิจการใดๆ ได้ตามกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ดี มองว่าคำสั่งก.ล.ต. ให้คณะกรรมการเนชั่น กรุ๊ปทั้งชุด หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องที่บริษัทไม่เข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใด ก.ล.ต. ถึงมีมุมมองต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการชุดเดิมของเนชั่นกรุ๊ปทั้ง 8 ราย ว่ามีความบกพร่องร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องถือว่าขาดความน่าไว้วางใจ ที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทได้ต่อไป ทั้งนี้คำว่าไม่น่าไว้วางใจ ถือเป็นคำที่รุนแรงสำหรับสื่อมวลชน โดยเฉพาะเครดิตและความน่าเชื่อถือ

พร้อมกันนี้ขอตั้งคำถามกลับไปยังก.ล.ต.ว่ามุมมองของก.ล.ต. แตกต่างจากศาลได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน เนื่องจากศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาในวันที่ 6 ต.ค. 2559 ในคดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการชุดเดิมของ เนชั่นกรุ๊ปทั้ง 8 ราย ซึ่งศาลตัดสินหลังจากที่ได้ฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วว่ากรรมการชุดเดิมทั้ง 8 ราย ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสั่งห้ามผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม และไม่ได้กระทำการอันใดที่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ จึงไม่ต้องรับผิดและไม่มีเหตุให้ต้องออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท

อีกทั้งที่ผ่านมาไม่ปรากฎว่าสำนักงานก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดๆ จากกรรมการทั้ง 8 รายดังกล่าว และไม่มีการเรียกให้ไปชี้แจงเพิ่มเติมหรือนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเลยแม้แต่น้อย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกบังคับใช้กฎหมายได้มีโอกาสพิสูจน์หักล้างข้อเท็จจริงหรือข้อสงสัยของก.ล.ต. ซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างสิ้นเชิง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าของวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขายชั่วคราว (H) หุ้นบมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC),บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์(NINE) และบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป(NMG) และในช่วงบ่ายได้ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย (SP) หุ้นดังกล่าว ขณะที่ทั้ง 3 บริษัทยังไม่ได้ชี้แจงข้อมูลใดมายังตลท. ต่อกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เปิดเผยรายชื่อบุคคลจำนวน 8 รายที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินงานและการจัดการของ NMG NBC และ NINE อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้บุคคล 8 ราย จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนใด ๆ ตลอดระยะเวลาที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ติดต่อประสานงานให้ NMG NBC และ NINE ชี้แจงการดำเนินการของบริษัทต่อกรณีดังกล่าวและผลกระทบต่อบริษัท แต่ NMG NBC และ NINE ยังไม่สามารถชี้แจงสารสนเทศมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ระบุในเอกสารเผยแพร่ ว่าต่อกรณีที่มีประเด็นสอบถามเรื่องคำพิพากษาศาลจังหวัดพระโขนงว่า จะมีผลต่อการดำเนินการของ ก.ล.ต. ที่ได้แจ้งบุคคล 8 ราย ว่ามีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจเป็นกรรมการและผู้บริหาร เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2559 หรือไม่นั้น ก.ล.ต. ขอแจ้งว่า คดีที่ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งซึ่งผู้ถือหุ้นของ NMG ได้ยื่นฟ้องต่อ NMG และกรรมการของบริษัท แต่การดำเนินการของ ก.ล.ต. เป็นผลสืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการในเดือนส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นผลให้บุคคลทั้ง 8 ราย มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนใด ๆ ไปจนกว่าการดำเนินคดีอาญาจะสิ้นสุด ซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดพระโขนงจะเป็นคุณต่อบุคคลทั้ง 8 ราย ในคดีอาญาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่ง ก.ล.ต. มิอาจก้าวล่วงได้

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ขอชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาของ ก.ล.ต. ในกรณีดังกล่าวได้เริ่มขึ้นและดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างรัดกุม นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. ได้รับทราบเรื่องการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ โดย ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานกับสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และหารือผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าได้ข้อเท็จจริงและความเห็นที่ครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งการดำเนินตามที่กล่าวได้แล้วเสร็จก่อนที่ศาลจังหวัดพระโขนงจะมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าว

อย่างไรก็ดี บุคคลทั้ง 8 ราย มีสิทธิที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลทั่วไปภายใต้กรอบของกฎหมาย ขณะที่การดำเนินการของ ก.ล.ต. เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่กำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วพบว่าเข้าองค์ประกอบ บุคคลกลุ่มดังกล่าวก็จะขาดคุณสมบัติในทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ ก.ล.ต. ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้เป็นอื่น โดยก.ล.ต. ยืนยันว่า การดำเนินงานของ ก.ล.ต. ยึดหลักความซื่อตรง และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ล.ต. ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มี

สำหรับคณะกรรมการจำนวน 8 รายดังกล่าวที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วย 1.นายปกรณ์ บริมาสพร 2.นายเชวง จริยะพิสุทธิ์ 3.นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ 4.น.ส.เขมกร วชิรวราการ 5.นายพนา จันทรวิโรจน์ 6.น.ส.ดวงกมล โชตะนา 7.นายเสริมสิน สมะลาภา 8.นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน