นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล” ในงานสัมมนา พลิกโฉมตลาดทุนไทย ไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล ซึ่งจัดโดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รุนแรง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับภาครัฐที่มีการดึงระบบดิจิตอลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ผ่านการผลักดันใน 4 ด้านสำคัญ คือ การพัฒนากฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิตอล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมต่างๆ

การยกระดับการให้บริการ และกระบวนการทำงานของภาครัฐให้อยู่ในระบบดิจิตอล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย รวมถึงการส่งเสริมและยกระดับบุคลากรที่มีขีดความสามารถ มีองค์ความรู้ในเรื่องดิจิตอล

ขณะที่ทิศทางของตลาดทุนในยุคที่ก้าวเข้าสู่ดิจิตอล จำเป็นต้องต้องยกระดับในส่วนนี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลสำหรับตลาดทุนไทยในช่วงปี 2560-2564 หากดำเนินการได้จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลกในด้านดิจิตอล รองจากสิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์

“สิ่งที่ ก.ล.ต. จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนากระบวนการดิจิตอลเต็มรูปแบบ ทั้งการออกหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เป็นดิจิตอลทั้งหมด การนำเอกสารทั้งหมดเข้าอยู่ในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งจะเริ่มที่หุ้นกู้ก่อน และการชำระเงิน ที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว โดยในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนในวันที่ 30 มี.ค. นี้ จะหยิบยกในเรื่องดังกล่าวหารือ รวมถึงจะต้องเป็นรูปธรรมก่อนการประชุมเอเปกในปี 2565 ด้วย”นายอาคมกล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ได้ฝากโจทย์สำคัญ 5 เรื่องให้ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและวางทิศทาง ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาดทุน ได้แก่ 1. การใช้กลไกเครือข่ายตลาดทุนในการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหาสามารถดำเนินการต่อไปได้ 2. สร้างระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุนที่เท่าเทียมกันของประชาชน และธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่

3. การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนรวมถึงเร่งปรับปรุงกฎหมายต่างๆ และการจัดทำกฎเหล็กเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มขึ้นขึ้นในเรื่องสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล (Digital Asset) และคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

4. การสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมเงินของกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) และ 5. ผลักดันให้ตลาดทุนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล โดยนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาปรับใช้ ทั้งในมิติของการพัฒนา กำกับดูแล และคุ้มครองผู้ลงทุน

“นอกจาก ก.ล.ต. จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลที่สำคัญของตลาดทุนแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทย จะเป็นตลาดทุนดิจิตอลที่สมบูรณ์ จึงอยากฝากอีก 2 เรื่อง คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้ดิจิตอลทางการเงิน (Cyber Security) และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องได้รับการให้ความยินยอม” นายอาคม กล่าว


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน