“แอร์พอร์ต เรลลิงก์” ระวังเตี้ยอุ้มค่อม หนี้สะสมพร้อมติดหล่มโควิด โครงการร่วมลงทุน ร่วมเสี่ยง (PPP) ร่วมหาทางออก รัฐบีบ “ซีพี” จ่ายดอกเบี้ยกว่าพันล้านเดินรถแต่ส่งรายได้ให้รัฐทั้งหมด

จากผลการศึกษาตามความเชื่อเดิมว่า การทำ “รถไฟความเร็วสูง” จะขาดทุนหนัก โดยหวังไว้ว่าจะมี “แอร์พอร์ตลิงก์” มาช่วยประคองตัวเลขความเป็นไปได้โครงการ แต่สถานการณ์กลายเป็นว่าโรคระบาด “โควิด-19” มาทำโครงการสะดุด เพราะแทนที่แอร์พอร์ตลิงก์จะมีรายได้ กลับมีตัวเลขผู้โดยสารลดฮวบ กลายเป็นภาระแบบเตี้ยอุ้มค่อม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่เอกชนจะต้องเข้าเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ต่อเนื่องไม่สุดในวันที่ 24 ต.ค.2564 ทั้งนี้ เพราะมีเหตุเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างมาก

จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า จำนวนเฉลี่ยผู้โดยสารรายวันในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ พบว่าผู้โดยสารลดลงกว่า 88.8% จากวิกฤติโควิดที่มีการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว ถึงแม้ปัจจุบันจะมีข่าวเตรียมเปิดประเทศ แต่คงใช้เวลาหลายเดือนกว่าตัวเลขผู้โดยสารจะดีขึ้น

เนื่องจากโครงการนี้เป็นรูปแบบรัฐร่วมเอกชนลงทุน หรือ “PPP” จึงทำให้ผู้ร่วมลงทุนทั้งรัฐและเอกชนต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้ร่วมทุนทั้งรัฐและเอกชนหาทางออกร่วมกัน โดยครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิดให้กับคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้การเดินรถไฟฟ้าในช่วงรอยต่อของการรับมอบพื้นที่โครงการดำเนินการได้ต่อเนื่อง

ทางฟากเอกชนขอผ่อนผันการชำระเงินค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ หรือ “ARL” ออกไป 3 เดือน และขอปรับรูปแบบการจ่ายจากเดิมที่ต้องชำระทั้งจำนวน 10,671 ล้านบาท ขอผ่อนผันเป็นการแบ่งชำระเป็น 10 งวด ซึ่งต่อมาได้เจรจาต่อรองเหลือเป็น 6 งวด ทั้งนี้ในการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ของเอกชนในช่วง 3 เดือนที่ได้รับการผ่อนผัน รายได้ทั้งหมดเป็นของรัฐ

แหล่งข่าวจากวงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า กรณีนี้พบว่าเอกชนคู่สัญญาต้องรับภาระดอกเบี้ยกว่า 1,000 ล้านบาทแลกกับการแบ่งจ่ายค่าสิทธิ์ ถือเป็นต้นทุนที่จำต้องแบกรับ เนื่องจากปัจจุบันวิกฤติโควิด-19 กระทบกับยอดผู้โดยสารที่หายไปกว่า 80% ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจ จึงทำให้เอกชนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าสิทธิ์ได้ ถือเป็นความท้าทายของเอกชนผู้ร่วมลงทุน ซึ่งแม้จะเป็นรายใหญ่ แต่ก็เป็นหน้าใหม่ในวงการก่อสร้าง ทำให้เอกชนต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

ข้อมูลผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงระหว่างวันเดือน มค.-กย. 2564 ซึ่งมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่พบว่า ในเดือนสิงหาคม มีสถิติผู้โดยสารต่ำที่สุดเป็นประวัติการเหลือเพียงเฉลี่ย 9,356 คนต่อวัน ก่อนจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 14,644 คนในเดือนกันยายน

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ภายใต้การให้บริการเดินรถโดย บริษัท เอเชีย เอรา วัน จะยังคงเดินหน้าให้บริการผู้โดยสารมี 8 สถานีบริการประกอบไปด้วย สถานีพญาไท สถานีราชปรารภ สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง และสถานีสถานีสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 – 24.00 (ยกเว้นในช่วงปฏิบัติตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เปิดดำเนินการถึง 23.00) มีค่าโดยสารระหว่าง 15–45 บาท


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน