การทำไพรมารีโหวต เพื่อคัดเลือกผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมือง แต่มีข้อเสนอเป็นทางออก 3 แนวทาง 1.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต 2.เลื่อนการทำไพรมารีโหวตไปใช้ในการเลือกตั้งคราวหน้า และ 3.ปรับรูปแบบทำไพรมารีโหวตระดับภาค แทนระดับเขตเลือกตั้ง

ขณะที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้

ส่วนนักวิชาการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มี มุมมอง ดังนี้

1.รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การทำไพรมารีโหวตเป็นหลักการที่ดีที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง และเป็นพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน

ประเด็นคือการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นไพรมารีโหวตในระบบปิด ทำให้ค่อนข้างที่จะเกิดปัญหา โดยเฉพาะเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคในกระบวนการทำไพรมารีโหวต

ดังนั้น ระบบดังกล่าวควรต้องเดินหน้าต่อไป แต่ประเด็นหลักควรต้องมีการปรับแก้ไขให้เป็นระบบเปิด

ไพรมารีโหวตระบบปิดจำกัดความเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้นในการลงคะแนน ทำให้จำนวนสมาชิกพรรคไม่ถึงเกณฑ์ ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา แต่หากเป็นไพรมารีโหวตระบบเปิด จะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็ทำไพรมารีโหวตได้

โดยอาจใช้คำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง หรือแก้ไขโดยสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) ก็ได้

ส่วนที่เข้าใจกันว่าหากยกเลิกไพรมารีโหวต จะทำให้การเลือกตั้ง เป็นโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะไพรมารีโหวตไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง

อีกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าระบบไพรมารีโหวตจะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่มากกว่า เพราะสามารถแสวงหาสมาชิกพรรคได้ ในขณะที่พรรคการเมืองเก่า เจอคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ซึ่งเป็นปัญหาในการหา สมาชิก การรณรงค์ทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำ ไม่ได้

อันที่จริงไพรมารีโหวตไม่ได้ทำให้เกิดปัญหากับพรรคการเมือง แต่ปัญหาคือคำสั่งที่ 53/2560 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ ไพรมารีโหวตได้รับผลกระทบ

ส่วนการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับประเด็นนี้คือต้องปรับเปลี่ยน เพราะหลักการไพรมารีโหวตไม่ใช่ปัญหา หากยกเลิกจะทำให้พรรคการเมืองไม่เกิดความเป็นสถาบันทางการเมือง

สิ่งที่ต้องทำคือกระบวนการแก้ไขใน รายละเอียดให้เกิดการปฏิบัติได้มากกว่า

2.นายเสรี สุวรรณภานนท์

อดีตส.ส.ร.ปี 2540 และ 2550

ไพรมารีโหวตมาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในช่วงนี้ต้องการปฏิรูปการเมืองถึงได้มีการคิดว่ามีวิธีไหนที่ให้การเมืองดีขึ้น วิธีการหนึ่งคือให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีเจ้าของเป็นนายทุน

ระบบไพรมารีโหวตเป็นอีกระบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกคนมาเป็นตัวแทน นี่คือการปฏิรูปการเมือง ต่อไปก็จะได้คนดีเข้ามา

การที่บอกว่าไม่พร้อม เพราะไม่มีเวลา ยังไม่สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ด้วยติดเงื่อนไขปัญหาการเมือง คนของการเมืองไม่ยอมรับมิติใหม่ๆ โดยสรุปเมื่อมาถึงเวลานี้ต้องพิจารณาดูว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองบอกไม่พร้อมขอเลื่อนการทำไพรมารีไปก่อน คือการเมืองแบบเก่า การเมืองที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจะเลือกตั้งไปทำไม

ระยะเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้ง ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะออกมามีผลบังคับใช้ก็มีเวลาถึง 6 เดือน จึงอยู่ที่เราจะบริหารจัดการอย่างไร

ระบบนี้คนที่ได้เปรียบคือบรรดานักการเมืองเก่า ปัญหาคือเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องไป คิดกันเอง

ถ้าเลื่อนการทำไพรมารีโหวตก็ได้ประโยชน์กันหมด ไม่เลื่อนก็ไม่เสียประโยชน์กันหมด เพราะหลักการใช้กับทุกพรรค พรรคการเมืองใหม่ก็ได้คนเดิมเข้ามาอีก ก็ไม่แตกต่างอะไร กลุ่มสามมิตร ก็คือคนเดิม อยู่ที่ว่า เป็นคนดีพอให้ชาวบ้านเลือกหรือไม่

ดังนั้นระบบนี้จะใช้กับทุกพรรค อย่าไปบอกว่าใช้กับพรรคที่สนับสนุนคสช. พรรคเก่า พรรคใหม่ ระบบนี้เมื่อคิดแล้วควรเดินต่อไป

หากยกเลิกไพรมารีโหวต ก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะหลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่รายละเอียดอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง จึงอยู่ที่บทเฉพาะการจะเอาอย่างไร จะออกคำสั่งไปแก้กฎหมายพรรคการเมือง ในบทเฉพาะกาลก็ทำได้

ปัญหาคือทำแล้วยังไม่ได้เริ่มต้นการปฏิรูปการเมือง มันก็คือของเก่าและ ผิดวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมาต้องการปฏิรูปการเมือง แต่พอพรรคการเมืองเรียกร้องก็ไปยอม แล้วที่จะปฏิรูปซึ่งทำกันมาตั้งนาน จะเอาไว้อีก 5 ปีแล้วค่อยไปเริ่มหรือ จึงอยากให้เดินตามกฎหมาย เดินตามหลักการให้มีการปฏิรูปการเมือง

หากต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาก็ต้องดูรายละเอียดว่าหลักการที่เปลี่ยนไปขัดกับหลักการที่ทำมาหรือไม่ เรื่องปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งถ้าอยู่ในหลักการทำให้การเมืองดีขึ้นก็ ไม่เสียหาย แต่หากให้หยุดไปก่อนอาจขัดกับหลักการ เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หรือหากเปลี่ยนรูปแบบจะมีปัญหาหรือไม่ การจะเปลี่ยนไพรมารีโหวตจากเขตเลือกตั้งมาเป็นระบบภาคก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร ข้อเสนอเหมือนเลี่ยงบาลี นี่แหละที่เขาว่าศรีธนญชัย

ดังนั้นเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ควรเดินไปตามนั้น เพราะเวลายังมีพอ การจะให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหรือไม่ ทุกพรรคก็โดนเหมือนกันหมด เพราะอยู่ในกรอบเดียวกัน

3.นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ต้องย้อนกลับไปดูที่เป้าหมายของการทำไพรมารีโหวตว่าต้องการอะไร ซึ่งการทำไพรมารีโหวตมีหมุดหมายเพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตของตน ลดอิทธิพลจากคณะกรรมการบริหารพรรคจากส่วนกลาง เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เดิมกฎหมายพรรคการเมืองให้ทำทุกเขตเลือกตั้ง พอมีคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็ปรับให้ทำเป็นรายจังหวัด 73 จังหวัด และรายภาค 4 ภาค หากปรับแก้อีกครั้งตามที่ฝ่ายการเมืองเสนอให้เหลือแค่รายภาค 4 ภาค เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เห็นด้วย

การทำไพรมารีโหวต จะไม่ใช่การกระจาย อำนาจอย่างแท้จริง อิทธิพลพรรคจากส่วนกลางจะยังคงอยู่ สามารถกำกับทั้ง 4 ภาคได้ อีกทั้งแต่ละภาคก็อาจไม่ได้มีตัวแทนครบ ทุกจังหวัดมากำหนดผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง บางจังหวัดจึงอาจไม่มีตัวแทนมามีส่วนร่วม ทั้งยังจะทำให้ความพร้อมและความเข้าใจของประชาชนและสมาชิกพรรค ที่มีต่อการทำ ไพรมารีโหวตน้อยลงไปอีก เพราะไม่เห็นถึงความสำคัญ

แต่หากจะให้ทำไพรมารีโหวตตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็จริงตามเสียงสะท้อนจากพรรคการเมืองต่างๆ ว่า อาจทำไม่ทัน เนื่องจากยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

นอกจากไพรมารีโหวตแล้ว ยังมีส่วนอื่นที่ต้องทำอีก เช่น การหาสมาชิกพรรคตามเงื่อนไข ที่อาจทำได้ไม่ยากก็จริง แต่สุดท้ายแล้วจะมีเพียงจำนวน แต่ไม่มีคุณภาพ เพราะถูกเร่งรัด

การทำไพรมารีโหวตหรือหาสมาชิกพรรค เพื่อสร้างฐานโครงสร้างองค์กรพรรคให้เข้มแข็ง จำเป็นต้องใช้เวลา การกำหนดเงื่อนไขให้ทำตามภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปีหลังจากกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้ โดยหวังจะให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้นเป็นเรื่องยาก

ดังนั้น หากกำหนดแนวทางให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตด้วยความไม่พร้อม ก็เสนอให้ยกยอดไปทำในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้เต็มรูปแบบแทนจะดีกว่า แต่ต้องออกมาตรการเพื่อให้เกิดสภาพบังคับโดยเคร่งครัด ต่อบทบาทของพรรคการเมืองในการทำ ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยอาจกำหนดให้กกต.รับผิดชอบในการออกหลักเกณฑ์ มิเช่นนั้นการเร่งรีบทำแบบนี้ จะไม่ส่งผลอะไรต่อการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับทำรายภาค 4 ภาค

ส่วนข้อสงสัยว่า หากงดเว้นครั้งนี้จะใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งบางฝ่ายอาจเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้เหมือนคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 แต่ส่วนตัวมองว่าใช้กระบวนการตามปกติในสภาจะดีกว่า เพื่อให้มีการถกเถียง แต่อาจกระทบเรื่องกรอบเวลาเลือกตั้งได้อีก

หนทางที่ง่ายที่สุดคือ ปลดล็อกพรรค การเมืองตั้งแต่ตอนนี้แทนที่จะเป็นเดือน ก.ย. เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวทำไพรมารีโหวต

4.ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการกกต.

การทำไพรมารีโหวต ตามทฤษฎีมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการสรรหาตามลำดับชั้นมา ไม่ใช่ให้ผู้บริหารหรือผู้กำกับพรรคเป็นคนชี้นิ้วเลือกใครมาลงสมัครส.ส.

แต่บ้านเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ไม่เคยทำไพรมารีโหวตมาก่อน เพิ่งจะมาบัญญัติไว้ และเป็นการคัดลอกมาจากยุโรปที่เขามีความเข้าใจแล้ว แต่เรายังไม่มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว แม้แต่กกต. ยังไม่พร้อมที่จะทำไพรมารีโหวต

นอกจากนี้ ยังไปล็อกเวลาไว้ไม่ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรม ฉะนั้นสมาชิกพรรคระหว่างอำเภอ จังหวัด และภาค ยังไม่มี ก็ทำไพรมารีโหวตไม่ได้ จะเกิดความสับสน

ถ้าเป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งต้นปี 2562 เชื่อว่าเวลาดังกล่าวนี้คงไม่เพียงพอ ถ้าเลื่อนทำไพรมารีโหวตไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่เสียหาย โดยรัฐบาลและกกต.ต้องทำความเข้าใจกับพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคก่อนเลือกตั้งจะต้องมีการประชุมพรรคอยู่แล้ว

วิธีแก้ที่ถูกต้องคือต้องแก้ที่กฎหมาย ถ้าเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็แก้ด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญก็แก้ด้วยคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ถ้าคิดจะทำจริงๆ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ ขัดหลักประชาธิปไตย

แต่ทางที่ดีพบกันครึ่งทางคือ ให้มี ไพรมารีโหวต แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยัง ไม่พร้อมก็ให้เลื่อนไปก่อน ซึ่งไม่มีความ เสียหายเลย เพราะไม่ใช่เรื่องการทุจริต ครั้งนี้ให้มีการเตรียมพร้อม เรียนรู้แนวทางนี้ให้ดีก่อน ส่วนพรรคการเมือง ก็หาผู้สมัครที่มีคุณภาพเข้ามา

ไพรมารีโหวตเป็นการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งทุกพรรคต้องสรรหาผู้ที่มีชื่อเสียง คนที่ประชาชนนิยมมาอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทำไพรมารีโหวต แต่อยู่ที่แนวทางประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับทุกขั้นตอน

แม้แต่การสรรหาผู้สมัคร ให้สมาชิกพรรคลงความเห็นว่าจะเลือกไม่ใช่ให้ ผู้บริหารพรรคชี้นิ้วเลือกเอง ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ ก็จะไม่ชี้นิ้วเลือกแต่จะมีการประชุมหารือเลือกกันเอง

ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องทำไพรมารีโหวตให้ได้ มองว่าจะเป็นการสุกเอาเผากิน และไม่ทันการณ์ พรรคการเมืองจะเกิดความรู้สึกไม่ดี ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเพียงประเด็นเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน