บทบรรณาธิการ : ผู้ชี้ชะตา

บทบรรณาธิการ : ผู้ชี้ชะตา – เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นเส้นตายการย้ายพรรคของนักการเมืองและอดีตส.ส.ทั้งหลาย ตามเงื่อนไขของกฎหมายเลือกตั้งที่กำหนดไว้ว่าต้องสังกัดพรรคที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน

พรรคการเมืองที่มีอดีตส.ส.ย้ายออกไปมากที่สุด ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคพันธมิตรตามยุทธศาสตร์เก็บคะแนนที่ตกน้ำ อีกส่วนหนึ่งย้ายไปท่ามกลางกระแสข่าวด้านค่าใช้จ่าย การเอื้อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง การช่วยเหลือทางคดี และคลายทุกข์ให้เครือญาติ

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับผล กระทบด้วยไม่น้อย มีอดีตส.ส.ในจังหวัดภาค ตะวันออก ภาคกลางบางส่วน รวมถึงกรุงเทพ มหานครก็ย้ายไปสังกัดพรรคอื่นเช่นกัน

พรรคพลังประชารัฐคือชุมทางที่ไหลรวมกลุ่มเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และมีอดีตส.ส.เข้าไปสังกัดจำนวนมหาศาล แต่ก็สะท้อนความเป็นกลุ่ม ก๊ก ก๊วนอย่างเด่นชัด

หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นคนของรัฐบาลปัจจุบัน ก็ไม่เคยลงสมัครส.ส.และลง สมัครส.ส.ไม่ได้ จะสามารถควบคุมบริหารงานบุคลากรที่มีความหลากหลายได้หรือไม่

แม้จะมีทรัพย์สิน เงินทอง และอำนาจรัฐอยู่ ในมือ ก็ใช่ว่าจะดำเนินการอย่างราบรื่น รวมทั้งจะจัดสรรตำแหน่งหน้าที่อย่างไรไม่ให้มีความ ขัดแย้งกันภายใน ถ้าหากชนะเลือกตั้งขึ้นมา

เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะพรรคการเมืองลักษณะนี้เคยมีบทเรียนมาแล้ว

ประการสำคัญ แม้ว่าพรรคนี้จะได้ตัวอดีตส.ส. อดีตนักการเมือง รวมทั้งเป็นที่ไหลรวมของเทคโนแครตบางกลุ่ม แต่คะแนนเสียงจากประชาชนผู้ชี้ขาดในวันเลือกตั้งจะได้ตามไปด้วยหรือไม่

การเลือกตั้งที่ผ่านมา พิสูจน์ชัดแล้วว่านักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ ไร้หลัก ไหลไปตามกระแสของอำนาจ รวมทั้งอามิสสินจ้างอื่นๆ มักจะหมดที่ยืนในทางการเมือง

พลังของประชาชนอันแข็งแกร่งที่ถูกอำนาจเผด็จการกดทับมาตลอด 4 ปี กับนโยบาย ประชารัฐ ที่ลด แลก แจก แถม ยิ่งกว่าประชานิยม จะเป็นเครื่องพิสูจน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน

ผู้มีสิทธิเลือกทั้งประเทศจะเป็นผู้พิพากษาและชี้ชะตา

อ่านบทบรรณาธิการเรื่องอื่นๆ

บทบรรณาธิการ : ส.ว.เลือกกันเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน