การลดพระมหาเศวตฉัตร : รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

การลดพระมหาเศวตฉัตร : รู้ไปโม้ด – ในการบรมราชา ภิเษก ทำไมต้องลดมหาเศวตฉัตร

ปานแก้ว

ตอบ ปานแก้ว

เอกสาร “คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดทำโดยคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีฯ อธิบายถึง การลดพระมหาเศวตฉัตร ว่า พระมหาเศวตฉัตร หรือ พระนพปฎลมหาเศวต ฉัตร เป็นเครื่องแสดงพระบรมราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว โดยปกตินั้น พระมหาเศวตฉัตรที่ปักหรือแขวนในพระที่นั่งองค์ต่างๆ จะลดลงมาซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มได้เฉพาะเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะตามธรรมเนียมแต่โบราณ หากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด เว้นแต่มีเหตุอันเลี่ยงไม่ได้ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า

การลดพระมหาเศวตฉัตร

การลดพระมหาเศวตฉัตร

การลดพระมหาเศวตฉัตร

พระเศวตฉัตรนั้นจะลดลงจากที่ได้ต่อเมื่อเปลี่ยนรัชกาลถ้าหากมีความจำเป็นต้องลด เช่น เวลาปฏิสังขรณ์พระราชมณเฑียร เป็นต้น เมื่อกลับยกเศวตฉัตรขึ้นที่เดิมก็ต้องทำเป็นการพิธี มีฤกษ์และสมโภช เพราะฉะนั้นจึงมีแต่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเดียว ซึ่งระเบียบการพิธีมีลดพระเศวตฉัตรลงซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มใหม่ แล้วยกกลับขึ้นตั้งที่ในวันแรกตั้งการพิธีบรมราชาภิเษก”

ยังมีความรู้จากบทความ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร นิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดย พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนไว้ว่า การถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในอดีต มีหลักฐานชัดเจนในหมายรับสั่งพระราชพิธีปราบดาภิเษกรัชกาลที่ 2 ..1171 (.. 2352) กล่าวถึง “พระเศวตฉัตร” ที่เชิญตั้งบนพระแท่นมณฑล และการถวาย “พระบวรเศวตฉัตร” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ..2394 ซึ่งก็คือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรนั่นเอง

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียกว่า “พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร” ดังปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางแห่งเรียกว่า “เศวตฉัตรพระกรรภิรมย์” เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้นขลิบทองเช่นเดียวกับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ไม่ใช่เศวตฉัตร 7 ชั้นอันใช้ปักพระคชาธารดังที่เคยเข้าใจกัน แต่ปรับลดขนาดพร้อมทรวดทรงให้ย่อมกว่ามากเพื่อให้สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ เชิญผูกไว้กับเสาพระแท่นมณฑล โดยหุบไว้มิได้กางออกเหมือนเช่นฉัตรอื่นๆ และคงเป็นเช่นนั้นเมื่อทูลเกล้าฯ ถวาย

การถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตรก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะกระทำเป็นลำดับสุดท้ายหลังการเฉลิมพระปรมาภิไธยและกราบบังคมทูลถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ เครื่องบรมขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ซึ่งพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวายขณะประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร ขณะทรงรับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พราหมณ์เป่าสังข์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ดนตรี จากนั้นพราหมณ์ร่ายอนุษฏุกศิวมนต์และอนุษฏุกวิษณุมนต์ จบแล้วพระมหาราชครูพราหมณ์ถวายชัยมงคล พระราชทานกระแสพระราชดำรัสซึ่งถือเป็นพระปฐมบรมราชโองการ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เปลี่ยนไปถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรขณะประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แทน พระที่นั่งภัทรบิฐจึงกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแทนสัปตปฎลเศวตฉัตรนับแต่นั้นต่างจากรัชกาลก่อน

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรอันปักกางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร และที่แขวนไว้ในพระราชมณเฑียรสถาน จะเชิญลงมาหุ้มผ้าใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาลเท่านั้น และถือเป็นธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดว่าหากยกขึ้นตั้งแล้วจะไม่ลดลงอีกเลยจนตลอดรัชกาล โดยขณะสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าพนักงานจะได้ยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตขึ้นพร้อมกันทุกแห่ง อย่างไรก็ดี มีกรณีพิเศษซึ่งได้เชิญลงมาก่อนสิ้นรัชกาลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนผ้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรใหม่ใน พ..2396

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน