ส.ส.พึงมี : บทบรรณาธิการ

ส.ส.พึงมี – มีเสียงเห็นด้วยจำนวนมาก สะท้อนจากสมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

รัฐธรรมนูญมาตรา 91 กำหนดวิธีการคำนวณไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็นพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กลับขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา ระบุถึงส.ส.พึงมีเบื้องต้น ทำให้การ คำนวณส.ส.ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญมาตรา 91

การตัดสินใจของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นการหาทางออกทางการเมืองที่สำคัญ และจะช่วยให้เกิดความชัดเจนสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ และครั้งต่อไปในอนาคต

หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นมาเกิน 1 เดือน อย่างน้อยประชาชนต้องการเห็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่มีหลักเกณฑ์เป็นสากล และที่สำคัญคือ เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอีกหลายศาสตร์ ต่างเห็นว่า การคิดสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นไม่ยาก เพียงให้ยึดหลักคำว่า “ส.ส.พึงมี” ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ

เพราะทั้งกฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสอดคล้องกัน คือ เมื่อคิดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วพรรคการเมืองจะได้ส.ส.เกินจำนวนส.ส.พึงมีย่อมไม่ได้

พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน จึงไม่ควรมีส.ส.

ข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำให้เกิดความกระจ่างแล้ว กกต.จะได้เดินหน้าทำงานต่อไปอย่างไม่ลังเล และประกาศรับรองส.ส.ได้ทัน ตามกำหนดเวลาวันที่ 9 พ.ค.

จากนั้นกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ตามเจตนารมณ์ของการเลือกตั้ง

ก่อนถึงการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประชาชนเคยลงประชามติด้วยเสียงข้างมากให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ เพื่อจะได้เลือกตั้ง และมีรัฐบาลจากกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการนั้นออกมาแล้ว ส.ส.ที่พึงมีควรสะท้อนมาจากเสียงข้างมากของประชาชน

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน