อำนาจนิยมไลฟ์บอย

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

อำนาจนิยมไลฟ์บอย – นายกฯ ประกาศเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ อ้าว วิษณุ เครืองาม เพิ่งพูดไว้เมื่อ 7 วันที่แล้ว ถ้าจะเคอร์ฟิวต้อง 24 ชั่วโมง เพราะโรคมันไม่เลือกเวลา นี่แปลว่าวิษณุพูดอะไรเชื่อไม่ได้ตามเคย

เข้าใจนะ เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง 14 วัน เป็นเรื่องที่ทำจริงได้ยาก แม้หลายคนร้อนรนอยาก “เจ็บแต่จบ” ก็ลองคิดแทนรัฐบาลว่า เป็นคุณจะเลือกแบบไหน หนึ่ง ล็อกดาวน์ให้หมด ให้ทหารตำรวจเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งถุงยังชีพ (ใช้คนเท่าไหร่) สอง ให้ออกจากบ้านเฉพาะซื้อยาซื้ออาหาร 1 ชั่วโมง แบบฝรั่ง ซึ่งก็ต้องทำแอพให้ประชาชน 65 ล้านคน แล้วจะให้ขายอาหารเฉพาะตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรืออนุญาตร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ไก่ย่าง ไก่ทอด แมค เคเอฟซี ซูชิ สปาเกตตี คุกกี้ กาแฟสด ฯลฯ (มึน)

มันไม่ใช่เรื่องจัดการได้ง่ายๆ แต่กระแสก็เร่งเร้า ไม่งั้นจะเหมือนประกาศภาวะฉุกเฉินเปล่าๆ อำนาจมีไม่ได้ใช้ เพราะอำนาจที่ใช้ผ่านผู้ว่าฯ ก่อนหน้านี้ เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ว่าอำนาจสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง ปิดร้านสะดวกซื้อ ปิดเส้นทาง ตั้งด่าน ให้คนเดินทางกลับจากต่างประเทศหรือกรุงเทพฯ ลงแอพกักตัวเอง หรือสั่งปิดหมู่บ้านเมื่อพบคนติดเชื้อ เพียงแต่เมื่อมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ออกคำสั่งคลุมๆ ใช้อำนาจควบกัน

ถ้าประกาศห้ามคนออกจากบ้านเมื่อไหร่ นั่นแหละ ใช้อำนาจฉุกเฉิน ซึ่งต้องใช้คำสั่ง ศบค. ที่นนทบุรีสั่งไปก่อนนี้ ที่จริงใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” แต่สื่อตีข่าวว่า “ห้าม”

ปัญหาของรัฐบาลคือ การปลุกบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว กระแสสื่อ กระแสหมอ ดราม่าต่างๆ เดี๋ยวทำกราฟสามแสนห้า เดี๋ยวเชื้อแพร่ในอากาศได้ ประกอบกับความไม่เชื่อมือรัฐบาล ทำให้คนไม่เชื่อมั่นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำ

บีบคั้นให้ต้องออก “เอ็กเซอร์ไซส์” ต้องใช้อำนาจฉุกเฉินทำอะไรสักอย่าง สุดท้ายก็มาลงที่เคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ ทั้งๆ ที่ “โรคมันไม่เลือกเวลา”

และทั้งที่มาตรการควบคุมโรคก็น่าจะคุมอยู่ เพราะยังไม่พบการติดเชื้อวงกว้างเกินผู้ใกล้ชิด

ถามว่าคนส่วนใหญ่เดือดร้อนไหม ก็ไม่ เพราะคนส่วนใหญ่ก็กลัว สี่ทุ่มอยู่บ้านกันหมดแล้ว สั่งปิดห้างปิดผับร้านอาหาร คนทำงานกลางคืนก็ตกงานหมดแล้ว 99.99% ไม่เดือดร้อน แล้วก็คงบอกว่าทำไปเถอะ เผื่อมันจะดีขึ้น

แต่ถามว่ามีผลควบคุมโรคไหม เมื่อไม่มีคนแล้วจะมีผลอะไร แม้บางคนอ้างว่าการห้ามออกจากบ้านตอนดึก มีข้อดีช่วยกำจัดเด็กแว้น วัยรุ่นมั่วสุมดื่มเหล้าเบียร์ (บางจังหวัดเลยห้ามขายเหล้าเบียร์) แต่นั่นก็คือคนแค่ 0.01%

ในทางกลับกัน แพทย์บางท่านยังเห็นว่า ถ้าเราให้เวลาเปิดร้านค้าน้อยลง ก็เท่ากับทำให้คนแออัดมากขึ้น ถ้าเราเห็นว่ารถเมล์รถไฟฟ้าคนแน่น ก็ต้องเพิ่มเที่ยววิ่ง (ไม่ใช่โวยว่าคนไม่ยอมอยู่บ้าน ขู่ลดขนส่งสาธารณะ ทั้งที่ชาวบ้านยังจำเป็นต้องออกไปทำมาหากิน)

มาตรการเคอร์ฟิวเฉพาะเวลา จึงมีประโยชน์น้อยมาก แทบจะไลฟ์บอย ในด้านการควบคุมโรค แต่มีประโยชน์ในแง่รัฐได้ทำอะไรสักอย่าง ได้ใช้อำนาจแล้วนะ แล้วประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมตาม เพราะไม่เดือดร้อนอะไร โดยไม่คำนึงว่า อะไรที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ มันก็จะมีความ “รุงรัง”

บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ผสมกับความอึดอัด หลังใช้มาตรการ Social Distance มาเกือบ 2 สัปดาห์ ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้อำนาจ โดยไม่คำนึงว่ามันจะสัมฤทธิผลจริงหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ เกินความจำเป็นทางสาธารณสุขหรือไม่ หรือเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วด้วยจิตสำนึก ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจออกคำสั่ง

ยกตัวอย่าง บางจังหวัดออกคำสั่งให้ประชาชนใส่หน้ากาก อีกจังหวัดก็ล้ำหน้า ออกคำสั่งปรับ 2 หมื่น ยังไม่พูดถึงว่านี่เราอยู่ในระบอบ “จังหวัดปกครองตนเอง” แล้วหรือไร การใส่หน้ากากเป็นสิ่งที่ประชาชนตระหนักอยู่แล้วโดยทั่วกัน เมื่อเข้าอาคาร เข้าร้านสะดวกซื้อ เข้าชุมชน ฯลฯ แต่เมื่อบัญญัติเป็นความผิด มันก็จะเกิดการใช้อำนาจจับผิด ยังมิพักต้องกล่าวว่า จังหวัดหาหน้ากากให้ประชาชนใช้เพียงพอหรือยัง

อำนาจที่ใช้หลายอย่าง โดยอาศัยความกลัวโควิด เป็นอำนาจที่เกินจำเป็น หรือได้ผลน้อยมาก แต่ประชาชนกลับสนับสนุน เพราะหวังว่ามันจะได้ผล สักนิดก็ยังดี โดยไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นสิ่งเสพติด

เคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ ในแง่ควบคุมโรค ยังได้ผลน้อยกว่าการไล่บี้ส่วนราชการ ให้หยุดงานที่ไม่จำเป็น work from home ลดเหลื่อมเวลา ซึ่งไม่เห็นค่อยทำ หรือไปขอความร่วมมือภาคธุรกิจ ให้หยุดงานโดยมีมาตรการหนุน

หรือถ้าเห็นว่าจะเอาไม่อยู่ ก็เคอร์ฟิว 14 วันไปเลย แต่ต้องกล้ารับผิดชอบดูแลประชาชนและผลกระทบด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน