รายงานพิเศษ

ภาณุวัฒน์ เคหะทอง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกันเปิดเวทีเจาะประเด็น ครั้งที่ 2 เรื่อง “E-Sport” เกม กีฬา ท้าทาย “โรคดิจิทัล” ที่ห้องจัดเลี้ยง 2 ชั้น 3 อาคารสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ความนิยมอี-สปอร์ตในประเทศไทย ได้ขยายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม เด็กและเยาวชน ภายหลังการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับรองให้เป็นกีฬา เมื่อเดือนก.ค.60 และเห็นชอบการจัดตั้ง สมาคมกีฬาอี-สปอร์ตแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 สามารถจัดการแข่งขันสร้างนักกีฬาอี-สปอร์ต มืออาชีพ และส่งไปแข่งขันยังต่างประเทศ เช่นเดียวกับสมาคมกีฬาประเภทอื่นๆ

นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าฯกกท. กล่าวว่า ภารกิจของ กกท. คือเรื่องของการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อการอาชีพ ทำอย่างไรถึงจะมีตัวแทนประเทศไทยที่ไปร่วมในการแข่งขันระดับชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียง ต่อยอดเป็นอาชีพ พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมกีฬาได้ อันนี้คือกรอบของการกีฬา ถ้าไปแข่งขัน ในนามของประเทศไทยแน่นอนว่าต้องมีการแข่งขันในต่างประเทศ การแข่งขันก็มีอุปกรณ์ที่รับรองที่พร้อม แต่การที่จะส่งเข้าไปร่วมได้ต้องเป็นสมาชิกของทางงาน กกท.ไม่ได้เป็นสมาชิก ต้องมีสมาคม ของแต่ละกีฬาเพื่อส่งไปแข่งขันได้ ดังนั้นกกท.จึงต้องรับรองก่อนว่าชนิดนั้นเป็นกีฬาเพื่อจะได้พัฒนาต่อได้ ตอนนี้ถึงจะยอมรับอี-สปอร์ตแล้ว แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีการประชุมเกิดขึ้นก็ปรับเปลี่ยนได้

ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน สุขภาพจิตและจิตเวช ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คิดว่าหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ พอเวลาพูดถึงสปอร์ต จะเข้าใจเป็นสปอร์ตชนิดหนึ่ง ถ้าพูดถึงกีฬาควรพูดถึง “ไอโอซี” จะเคลียร์ที่สุด ไอโอซีพูดไว้อย่างชัดเจนว่า อี-สปอร์ตกว่าจะเป็นกีฬาได้ต้องอีกยาวไกล เพราะมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง 1.คอนเทนต์ ไม่แน่นอน เช่น เกมที่วางแผนก็เป็นอี-สปอร์ตได้ เกมที่ใช้ความรุนแรงก็เป็นอี-สปอร์ตได้ และ 2.ต้องมีองค์กรคอยดูและคอยลงโทษ เช่น เนื้อหาไม่เหมาะสม ขาดเรื่องมารยาท ที่จำเป็น ซึ่งสองสิ่งนี้ปัจจุบันไม่มี

“วิธีการเล่นเกมมันจะกระตุ้นสมองของมนุษย์ คือ การทำงานของส่วนคิด และสมองส่วนอยาก ถ้าการเล่นไปกระตุ้นสมองส่วนคิดเป็นหลักก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปกระตุ้นสมองส่วนอยากเป็นหลักก็จะทำให้ติดทางพฤติกรรมหรือติดเกม ถ้าอยากให้เป็น อี-สปอร์ตต้องทำคอนเทนต์ที่ไม่ไปกระตุ้นสมองส่วนอยาก จึงบอกไม่ได้ว่าทุกเกมสามารถเป็นอี-สปอร์ตได้” นพ.ยงยุทธกล่าว

ขณะที่ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นายกสมาคมวิทยุสื่อสารเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมออนไลน์ที่เด็กเล่น ใช้เวลาวันละ 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ถึง 3 ชั่วโมง เด็กที่เข้าใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมกว่าร้อยละ 52 คือเด็กไทย พอพูดถึงอี-สปอร์ต ถือว่าเป็นกระแสนิยมของโลก ทำให้เด็กไทย ใช้เวลาอยู่ที่หน้าจอเพิ่มมากขึ้น ติดอันดับโลก เป้าหมายสำคัญคือการปกป้อง เด็กและเยาวชน ความเข้าใจของอี-สปอร์ตแต่ละบ้านไม่เท่ากัน ปัญหาที่จะตามมาก็มาก

“สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้การพนันเข้ามาร่วมกับอี-สปอร์ต”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน