อีกครั้งที่ทีมไทยสร้างชื่อเสียงบนเวทีนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กวาด 3 รางวัล จากการแข่งขัน Huawei ICT Competition 2018 Global Final ระหว่างสถาบันกลุ่ม HAINA ประกอบด้วย 1.รางวัลผลงานดีเด่น 2.รางวัลผู้สอนยอดเยี่ยม (ผศ.ดร.นภัทร สระเอี่ยม) และ 3.รางวัลสถาบันยอดเยี่ยม

HAINA (Huawei Authorized Information and Network Academy) เป็นโครงการร่วมมือทางวิชาการระหว่างหัวเว่ยผู้นำไอซีทีระดับโลกกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก 800 แห่ง ใน 15 ประเทศ เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่คนรุ่นใหม่กว่า 40,000 คน ทดลองปฏิบัติงานจริงกับอุปกรณ์เครือข่าย และมีศักยภาพความสามารถในระดับใบรับรอง HCNA (Huawei Certificate Network Associate) เพื่อเตรียมความพร้อมและทักษะความรู้ที่สามารถจะไปทำงานตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา

cof

3 หนุ่ม คือ ธีรวัฒน์ สุประภากร, ภาบถ ไกรกฤตยากุล และ ภาณุพงศ์ ร่วมจิต ทีมนักศึกษาจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลผลงานดีเด่น ในเวทีแข่งขัน Huawei ICT Competition 2018 Global Final ที่เมือง เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน บอกเล่าว่า “นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในเวทีระดับโลกครั้งนี้ มีทีมที่เข้ารอบสุดท้ายจากทั่วโลกเพียง 23 ทีม พวกเราทีมไทยเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งศึกษาและทบทวนความรู้ด้าน Routing and Switching Technology, WLAN, Network Security, Cloud Computing และ Storage จากระดับ HCNA HCNP และ HCIE รวมทั้งอาจารย์ ฝึกทดสอบการปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์ HAINA ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม

เวลาในการแข่งขันจริง 8 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น โจทย์คือการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ในวงกว้างอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยใช้ เราเตอร์ 7 ตัว สวิตช์ 7 ตัว WLAN SAN ระหว่างสำนักงานใหญ่กับสำนักงานย่อยในภูมิภาคต่างๆ ให้ง่ายต่อการจัดการเครือข่าย ติดตั้ง Firewall เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลและทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งเชื่อมต่อเครือข่ายของบริษัทที่มีอยู่เดิมให้เข้ากับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่อย่าง Cloud Computing และ Storage การเชื่อมต่อ Cloud Computing และ Storage เป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขัน แม้ว่าเราจะขาดประสบการณ์ แต่เราก็ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ด้วยการมุ่งมั่นศึกษาระบบในส่วนต่างๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน และ ตั้งสติระหว่างการแข่งขัน เดินหน้าแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นตอน

“ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ จะนำประสบการณ์จากการแข่งขันเวทีระดับโลกครั้งนี้ มาต่อยอดในธุรกิจสตาร์ตอัพ เราเป็นเสมือนกลุ่มนวัตกรผู้สร้างและพัฒนานวัตกรรม อุปกรณ์ต่างๆ และงานบริการด้านไอที ซึ่งสามารถตอบโจทย์การพัฒนาชาติในยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืนครับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน