รายงานพิเศษ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้เสียชีวิตแบบกะทันหันได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและแพทย์เฉพาะทางด้านไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนไทย 1,000 คน จะพบ 40 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็ก วัยรุ่น คนทำงานจะเป็นไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ปกติหัวใจของคนเราจะเต้นด้วยอัตรา 60-100 ครั้ง/นาที ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงหมายถึง ภาวะห้องเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน

โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการดังนี้ 1.หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที 2.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที 3.หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า

สาเหตุหลักของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ และโรคประจำตัว ได้แก่ ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น รวมถึงการใช้ยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสม ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์ เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เป็นอัมพาตจนถึงเสียชีวิต

การสังเกตอาการเบื้องต้น หากมีอาการ ใจสั่นผิดปกติ วูบ หน้ามืด เป็นลม จุกแน่นขึ้นคอ ลิ้นปี เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนราบไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบใด โดยมีวิธีในการรักษาดังต่อไปนี้ การให้ ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ, การช็อกไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ, การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจชนิดพิเศษ, การติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ ใช้ในกรณีที่ ผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ มี 2 แบบคือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียวและสองห้อง ข้อดีของเครื่องนี้คือ ถ้าอยู่บ้านแล้วหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงขั้นมีอันตรายถึงชีวิต เครื่องจะกระตุกหัวใจจะทำงานอัตโนมัติเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้น

ทั้งนี้เราสามารถห่างไกลโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 45 นาที/วัน 3-5 วัน/สัปดาห์ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มมาก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง/วัน ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

หากมีโรคประจำตัวควรติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะควรมาพบแพทย์ตามนัดทุก 1-2 เดือน เพื่อติดตามผลการรักษาและอาการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ที่มีอาการแปลกๆ ตามที่กล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อจะได้คัดกรองกลุ่มอาการของโรคได้ถูกต้องและรักษาอย่างเหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน