กินเจ ทำไมต้องใส่ชุดขาว ใส่ชุดสีอื่นไม่ได้หรือ

กินเจ (ตอนแรก)

อยากทราบความเป็นมาของเทศกาลกินเจ และทำไมต้องใส่ชุดขาวด้วย สีอื่นไม่ได้หรือ

แต้วแว้ว
ตอบ แต้วแว้ว

คำตอบสรุปความมาจากศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” โดย ถาวร สิกขโกศล สนพ.มติชน ว่า เจ แปลว่า การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์แบบจีนโบราณ และอาจใช้ในความหมายว่า เรียบร้อยสะอาด ก็ได้

คนจีนโบราณมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะไม่รับการติดต่อ เซ่นสรวงจากคนสกปรกมีมลทิน ดังนั้น ก่อนการประกอบพิธี เซ่นสรวงหรือทำกิจสำคัญ ผู้เข้าพิธีจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ถือศีล งดเว้นอาหารสดคาว คือเนื้อสัตว์และผักฉุน งดสุรา กิจกรรมทางเพศ สำรวมกายใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยแยกตัวไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นว่าตนมีความศรัทธาแน่วแน่และบริสุทธิ์สะอาดพอ เรียกว่า กินเจ

คัมภีร์หลี่จี้ (อธิบายจารีต) พูดถึงเรื่องเจสมัยราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนค.ศ.) ไว้ชัดเจนว่า “เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชา ประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่, หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องที่ต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่ กินเจ” ส่วนสามัญชนจีนโบราณกินเจกันน้อย กินเฉพาะเวลาจำเป็น เพราะความไม่สะดวกเรื่องอาหารซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่ายุคหลัง

การเปิดเส้นทางสายไหมตั้งแต่รัชกาลฮั่นอู่ ตี้ (ราชวงศ์ฮั่น 206 ปีก่อนค.ศ.-ค.ศ.220) ทำให้พันธุ์ผักและผลไม้ใหม่ๆ เข้าสู่จีน การเกษตรที่ก้าวหน้าทำให้มีผักผลไม้อุดมหลากหลายขึ้น รวมถึงการคิด
ทำเต้าหู้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภทอื่นตามมา ทำให้มีโปรตีนทดแทน ทำอาหารได้หลายประเภท มากขึ้น เมนูอาหารเจจึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคราชวงศ์ฮั่น

เมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ.420-589) เป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรือง แม้เดิมทีพุทธศาสนาจะไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ แต่มหายานบางสายให้ความสำคัญกับการฉันเจ จึงเกิดคัมภีร์ ลังกาวตารสูตรขึ้นมาสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งยังมีข้อจำกัด เช่น ช่วงฤดูหนาวภิกษุในจีนออกบิณฑบาตลำบาก หรือในยุคที่ศาสนาพุทธถูกต่อต้าน ภิกษุภิกษุณีต้องทำอาหารกินเอง จำเป็นต้องฉันมังสวิรัติหรือเจตามประเพณีเดิมของจีน

ต่อมาพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (ครองราชย์ระหว่างค.ศ.502-550) ได้อ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรแล้วศรัทธามาก ในปีค.ศ.511 จึงได้ออก “ประกาศงดสุราและเนื้อ” ให้นักบวชพุทธศาสนาถือปฏิบัติ และด้วยทรงครองราชย์นานถึง 48 ปี ประกอบกับแคว้นเหลียงของพระองค์ก็กว้างใหญ่ราวครึ่งประเทศจีน

ขณะที่แคว้นอื่นๆ ทางเหนือพุทธศาสนารุ่งเรืองมากเช่นกัน บัญญัติห้ามฉันสุราและเนื้อจึงแพร่ไปทั่ว กลายเป็นจารีตของนักบวชในพุทธศาสนาของจีนตั้งแต่นั้น

ในยุคราชวงศ์ถัง วัดบางแห่งห้ามผักฉุน 5 อย่าง คือ กระเทียม กระเทียมเล็ก หอม หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) มหาหิงคุ์ ส่วนวัดเต๋าบางแห่งก็ห้าม กุยช่าย หอมปรัง กระเทียม ผักชี หวินไถ (ผักน้ำมัน) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมา

มีศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการกินเจอีก 2 ศาสนา คือศาสนาเต๋า และมณี หรือมาณีกี ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นลัทธิเม้งก้า โดยศาสนาเต๋าเดิมกินเจแบบจีนโบราณ คือเฉพาะเวลาประกอบพิธี แต่เมื่อแยกออกมาเป็นนิกายช้วนจินก้า มีระบบนักบวชและกินเจตลอดชีวิตตามอย่างพุทธศาสนา แต่นิกายเจิ้งอี่ที่แพร่หลายในไต้หวันยังยึดประเพณีแบบเดิม ส่วนลัทธิเม้งก้า (จากเปอร์เซีย) ตำนานระบุว่า มาเนส หรือมณี ผู้เป็นศาสดา ถือมังสวิรัติ แต่ข้อสังเกตคือ เม้งก้าเมื่อเข้าสู่จีนก็ได้รับอิทธิพลของเต๋าและพุทธอยู่มาก

สำหรับในจีน ปัจจุบันการกินเจ 1-9 ค่ำ เดือนเก้า เสื่อมลงจนแทบหมดไป แต่ยังมีเหลืออยู่ในไต้หวัน ขณะที่ในไทยที่รับมาจากจีนกลับรุ่งเรืองจนแพร่ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาเป็นเทศกาลใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การกินเจเดือนเก้าในไทยมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากงิ้ว โดย พระสันทัดอักษรสาร เขียนไว้ในเรื่อง “ประวัติงิ้วในเมืองไทย” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอน 9 เมษายน พ.ศ.2467 เนื้อหาระบุว่า “พวกงิ้วเป็น ต้นเหตุที่นำเอาแบบธรรมเนียมการกินเจเข้ามา ได้ตั้งโรงกินเจเรียกว่า ‘เจตั๊ว’ งิ้วนี้เมื่อถึงคราวกินเจต้องกินเจทุกโรง ต่อมา พวกจีนทั้งหลายก็พลอยพากันกินเจไปด้วย แต่ปัจจุบันการกินเจได้เสื่อมลงไปหมดแล้ว”

พรุ่งนี้ตอบเรื่องแต่งขาวไป กินเจ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน