ลอยกระทง-นางนพมาศ

ลอยกระทง – น้าชาติคะ จริงหรือที่ว่าลอยกระทงไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยอย่างที่จัดงานกัน นางนพมาศด้วย

ศรี

ตอบ ศรี

คำตอบมี 2 ทาง ทางแรกนำมาจากข้อเขียนเรื่อง “ลอยกระทง ประเพณีประดิษฐ์เพิ่งมีในวัฒนธรรมป๊อป” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ว่า ลอยกระทงที่แพร่หลายทั่วประเทศ เป็นประเพณีเพิ่งสร้างในวัฒนธรรมป๊อปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ด้วยการผลักดันของเพลงรำวงลอยกระทงผ่านวิทยุกระจายเสียง

ระบุ มีผู้ส่งข้อความจากหนังสือพิมพ์มาให้อ่านเพื่อขอความเห็น “การลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณที่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า ‘พิธีจองเปรียง’ หรือ ‘การลอยพระประทีป’ และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน และได้มีการสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์”

ลอยกระทง-นางนพมาศ

ตอบ ไม่เคยมีลอยกระทงสมัยสุโขทัย 1.“ลอยกระทง” ชื่อนี้พบครั้งแรกในเอกสารสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยพบในจารึกสมัยกรุงสุโขทัย นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นหนังสือนิทาน (ใช้ฉากกรุงสุโขทัย) แต่งสมัย ร.3 ดังนั้น ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่เคยมีประเพณีลอยกระทง ตระพังคือสระน้ำในเมืองสุโขทัย ไม่ได้เก็บน้ำไว้ลอยกระทง แต่กักเก็บน้ำใช้ในวัดกับในวัง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสุโขทัยตั้งบนที่ดอนเชิงเขา เป็นเมืองแล้งน้ำ

2.“พิธีจองเปรียง” หรือ “พิธีลอยพระประทีป” เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ มีในกลุ่มพราหมณ์และคนชั้นสูงราชสำนักอาณาจักรกัมพูชา กับราชสำนักรัฐละโว้ (ลพบุรี) แล้วตกทอดถึงราชสำนักอยุธยา ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีในกรุงสุโขทัย ที่สำคัญคือไม่เกี่ยวกับลอยกระทง และไม่ใช่ประเพณีของสามัญชนชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่รู้จักจองเปรียง ลอยประทีป

3.“เผาเทียน เล่นไฟ” มีในศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง โดยมีความหมายกว้างๆ เกี่ยวกับประเพณีทำบุญไหว้พระออกพรรษาทอดกฐิน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับลอยกระทง และในศิลาจารึกไม่มีคำว่าลอยกระทง แต่ราชการสมัยนี้จัดงานทำการตลาดขายนักท่องเที่ยว เลยเติมคำว่าลอยกระทงไปข้างหน้าเผาเทียน เล่นไฟ เป็นชื่องานว่า “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งไม่เคยมีในยุคสุโขทัย

ลอยกระทง-นางนพมาศ

และแม้จะมีความชัดเจนแล้วว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” และ “ประเพณีลอยกระทง” ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ทว่าในปัจจุบันยังคงมีความเชื่อดังกล่าวอยู่และถูกผลิตซ้ำตลอดเวลา เห็นได้ชัดคือประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ความเก่าแก่ของวัฒนธรรมประเพณีของไทย เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว เพราะยากจะเกิดประเพณีอย่างลอยกระทงที่ชุมชนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่แล้งน้ำโดยธรรมชาติอย่างเมืองสุโขทัย

ลอยกระทง-นางนพมาศ

  • ขณะที่เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th เผยแพร่ข้อมูลว่า ประเพณีลอยกระทงไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่าน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันจัดงานประเพณี “ลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อฟื้นฟูประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย โดยให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียน เล่นไฟ” จุดเน้นที่สำคัญของงานคือการฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ กำหนดจัดขึ้นทุกปีในวันเพ็ญเดือน 12 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ฉบับพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) พบกับนางนพมาศที่ไม่ด้มาจากกรุงสุโขทัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน