คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

อยากรู้เรื่องห้องไอซียู และต้องอาการระดับไหนถึงต้องเข้าไอซียู วัดยังไงคะ

คิมมึน

ตอบ คิมมึน

คำตอบได้มาจากข้อเขียนของ นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายไว้ว่า ไอซียู-ICU (Intensive Can Unit) เป็นหออภิบาลผู้ป่วยพิเศษ ดูแลเฉพาะคนไข้ที่มีอาการวิกฤต หรือกึ่งวิกฤต จนต้องติดตามอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด บางแห่งอาจเรียกตรงๆ ว่า หอผู้ป่วยวิกฤต

ไอซียูยังแบ่งย่อยออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับประเภทของการเจ็บป่วยวิกฤตนั้นๆ และชนิดของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์สำคัญในการดูแลรักษา โรงพยาบาลหลายๆ แห่งมีไอซียูมากกว่า 1 แห่ง โดยจัดตั้งไอซียูพิเศษแยกออกไป ได้แก่ ไอซียูเฉพาะสำหรับคนไข้โรคหัวใจ มักเรียกว่า ซีซียู (แทนคำว่าไอซียู) ซีซียู-CCU ย่อมาจาก Coronary Care Unit ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนไข้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ(หลอดเลือดโคโรนารี) ตีบตัน, ไอซียูสำหรับคนไข้อุบัติเหตุ เรียกว่า ทรอม่า ไอซียู (Trauma ICU) ซึ่งจะต้องมีความพร้อมสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉินในทุกๆ นาที และไอซียูสำหรับคนไข้โรคทางสมองโดยเฉพาะ เรียกว่า นิวโรไอซียู (Neuro ICU)

หอผู้ป่วยสามัญกับไอซียูไม่ต่างกันในแง่ที่เป็นหอนอนของ ผู้ป่วย แต่สิ่งที่ทำให้ไอซียูเหนือกว่า คือมีเครื่องไม้เครื่องมือและศักยภาพในการดูแลรักษาที่ดีกว่า สามารถให้การรักษาแบบ ประคับประคองชีวิตแบบซับซ้อนได้ดีกว่า เช่น สามารถให้การ ช่วยเหลือด้านเครื่องช่วยหายใจ ล้างไตด้วยเครื่องฟอกเลือดในรายจำเป็นได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้คนไข้ยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤตของโรคต่างๆ ได้

ไอซียูที่ดีต้องประกอบด้วยปัจจัยหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.คนต้องพอ/ดี ต้องมีกำลังคนที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอในทุกระดับหรือเกือบทุกระดับ ตั้งแต่หมอ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่การพยาบาล นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนอื่นๆ 2.ของต้องพอ/ดี หมายถึง อุปกรณ์และจำนวนเตียงต้องพอต่อการให้บริการคนไข้ และมีคุณภาพ 3.ความรู้ต้องดี ทั้งคุณหมอ คุณพยาบาล ต้องมีความเชี่ยวชาญ ความรู้ที่ดีจะนำมาซึ่งคุณภาพการรักษาที่ดีด้วย

และ 4.ระบบต้องดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเตียงที่มีอยู่อย่างจำกัดที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในการดูแลคนไข้มากที่สุด ระบบดีมี 3 องค์ประกอบ คือ ระบบการดูแลคนไข้วิกฤตจากโรคอันตรายบางโรคแบบสายฟ้าแลบ, ระบบการดูแลญาติของคนไข้ และการสื่อสารระหว่างคนไข้ ญาติ และทีมหมอที่มีประสิทธิภาพ และระบบการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่ดี การสื่อสารสร้างความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เมตตากรุณามีความสำคัญที่สุด

การพิจารณารับย้ายคนไข้เข้าไอซียูหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอาการและสภาวะของคนไข้ขณะนั้น แต่ในบางโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างจังหวัด มีคนไข้หนักมาก แต่เตียงไอซียูมีจำกัด ก็จะต้องคำนึงโอกาสจะรอดชีวิตจากการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือสภาวะนั้นๆ ประกอบด้วย หากโอกาสรอดชีวิตของคนไข้รายนั้นๆ ต่ำ ก็อาจต้องพัฒนาให้เตียงไอซียูแก่คนไข้ที่มีโอกาสรอดมากกว่า เพื่อให้เตียงไอซียูเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้อย่างเต็มที่และคุ้มค่าที่สุด

คนไข้วิกฤตในไอซียูอาจเป็นได้ทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน หรืออาจจะมีโรคเรื้อรังบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคอัมพาต แล้วเกิดการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน อย่างรุนแรงร่วมด้วย คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้จะมีสุขภาพด้อยกว่าคนปกติอยู่แล้ว จึงป่วยได้ง่ายกว่า และเมื่อป่วยซ้ำซ้อนก็มักจะมีความรุนแรงและวิกฤตง่ายกว่าคนไข้ที่แข็งแรงดีมาก่อนหน้า และบ่อยครั้งคนไข้วิกฤตในไอซียูมักมีอวัยวะบางอย่างเสื่อมอย่างฉับพลัน เช่น การหายใจล้มเหลว ไตวาย ปัสสาวะไม่ออก หัวใจวาย จำนวนไม่น้อยเกิดภาวะช็อกหรือความดันโลหิตต่ำ การติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด คนไข้ลมชักต่อเนื่อง คนไข้ภาวะฉุกเฉินทางสมอง

จะเห็นได้ว่าคนไข้ที่นอนเตียงในห้องไอซียูนั้นส่วนใหญ่อยู่ในภาวะวิกฤต สภาวะคนไข้พลิกผันได้เหมือนปรอทขึ้นๆ ลงๆ ดีขึ้น แย่ลงอย่างง่ายดาย ปรวนแปรได้ชั่วพริบตาทีเดียว แต่ธรรมชาติของห้องหรือหอไอซียู ที่แน่ๆ คือต้องมีคุณหมอ คุณพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมด้วยเครื่องมือแพทย์ ประสบการณ์แพทย์ ยาฉุกเฉินชั้นเยี่ยม นั่นคือไอซียูของโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทยย่อมเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน