เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อหาแนวทางรับมือ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ สถาบันคีนันแห่งเอเชียได้จัดงานประชุมนานาชาติ NextGen Aging Shaping a Smart Future for an Aging Society ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

นพ.บุญ วนาสิน

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากประเทศจีน ในขณะที่การเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุของทั้งภาครัฐและเอกชนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

โดยมีผู้สูงอายุเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถดูแลตนเองได้ แต่มีจำนวนผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ที่ยังเป็นหนี้ และสืบเนื่องจากค่านิยมการย้ายเข้าเมืองของคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยอยู่ลำพัง ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และโรคเรื้อรังต่าง ๆ ดังนั้นการเตรียมตนเองให้พร้อมรับมือกับวัยชราจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวและเป็นสุข

นพ.บุญกล่าวต่อว่า การรับมือด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุนั้นควรครอบคลุมทั้งแนวทางการป้องกัน เช่น การออกกำลังกาย เลือกทานอาหารสุขภาพ และสร้างวินัยการออกกำลังกาย และแนวทางการรักษา เช่น การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจและรักษาโรค และสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต และเชื่อว่าในเวลาอีกไม่กี่ปีกว่า 60% ของการเจ็บป่วยจะสามารถรักษาได้ที่บ้าน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาล แต่ใช้เทคโนโลยี AI ดำเนินการตรวจอาการและประเมินผลต่างๆ ได้ทันที

นพ.บุญกล่าวอีกว่า ภาครัฐควรส่งเสริมนโยบายสาธารณสุขและการดำรงชีวิตสำหรับผู้สูงอายุมากกว่ามุ่งเน้นเพียงแค่การรักษาโรคร้ายแรง ทางด้านภาคเอกชนควรหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้บริโภควัยหลังเกษียณกันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระภาครัฐในการหาทางออกให้กับความท้าทายนี้อีกด้วย

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ดร.เอมอร โคพีร่า Chief Medical Officer โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า ปัญหาหลักที่มักจะมาพร้อมอายุที่มากขึ้น ได้แก่ การขาดสารอาหาร ความเสื่อมถอยของสุขภาพกายและสุขภาพจิต กระบวนการเรียนรู้ช้าลง ความสามารถในการเข้าถึงบริการหรือโอกาสต่างๆ ลดลง และปัญหาทางการเงิน

ความสูงอายุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกใช้ชีวิตเพื่อให้มีชีวิตบั้นปลายที่ยืนยาวและมีความสุขได้ดร.เอมอรกล่าว

ดร.เอมอรกล่าวต่อว่า ชีวิตที่สมบูรณ์ แข็งแรงนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ของมารดา การวางแผนครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ การตัดสินใจและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทุกอย่างล้วนมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของเรา ดังนั้นจึงควรที่จะใส่ใจการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว ไม่ใช่เพียงการมีชีวิตที่ยืนยาว

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ดร.เอมอร โคพีร่า

ดร.เอมอรกล่าวอีกว่า ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอยู่ตลอดเวลาทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนเราเพิ่มขึ้นถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถตรวจรักษาโรคได้ตั้งแต่ก่อนที่จะแสดงอาการ หรือในช่วงแรกเริ่ม จึงจัดการกับการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวยิ่งขึ้น

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ดร.เอมอรสรุปการเสวนาว่า โลกเรากำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการมีอายุยืนยาว และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมและสร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างยืนยาวและเป็นสุข โดยไม่ถูกจำกัดด้วยความเสื่อมถอยตามอายุ (an age of agelessness)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน