สนามฟุตซอลยางพารา เปิดตัวครั้งแรกงานบึงกาฬ 2019

สนามฟุตซอลยางพารา : ปริมาณยางในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางผันผวนต่อเนื่อง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงพยายามร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข เช่นเดียวกับการยางแห่งประเทศไทย ที่ได้เดินหน้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มีความหลากหลาย กระตุ้นให้เกิดการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น

ยางพารา

สนามฟุตซอล

ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ จัดโดย จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) บึงกาฬ และเครือมติชน พร้อมหน่วยงานราชการและภาคเอกชนมากมาย ระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.2561 นี้ จะได้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางอย่างไรบ้าง

“บล็อกยางสนามฟุตซอล” เป็นผลงานหนึ่งของฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ยางพารา

พื้นสนามฟุตซอล

ด้วยการแปรรูปยางพาราธรรมชาติเป็นแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล แทนการใช้ซีเมนต์ทำให้พื้นสนามมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลดแรงกระแทกบริเวณเข่าและข้อเท้าขณะวิ่ง ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คุณสมบัติที่โดดเด่นของยางพารา คือ ความยืดหยุ่น ที่จะช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บลงได้ บล็อกยางทุกแผ่นถูกออกแบบมาให้มีรูเพื่อช่วยระบายน้ำ และป้องกันการหดตัวของยางเมื่อเจอความร้อน จึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศ มีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี

ยางพารา

MTEC – กาวดักแมลง

ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งสนามฟุตซอล 1 ตารางเมตร ใช้ยางพารากว่า 10 กิโลกรัม ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยาง และยังเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับนักกีฬาอีกช่องทางหนึ่ง

“ความท้าทายของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการผลิตและออกแบบแผ่นยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน แผ่นยางจะต้องไม่แข็งจนเกินไป ตัวล็อกระหว่างแผ่นต้องเสมอกัน และมีความหนาที่พอเหมาะ จึงจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยยังได้คิดค้นผลิตภัณฑ์จากยางอีกหลากหลายประเภท อาทิ บล็อกยางปูพื้นสนามเด็กเล่น หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา รวมทั้งนำยางธรรมชาติในรูปแบบน้ำยางข้นและยางแห้งมาเป็นส่วนผสมกับยางมะตอยเพื่อทำถนน ซึ่งช่วยให้ถนนมีความทนทานมากขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาฉนวนกันไฟแรงดันสูงเพื่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า ควบคู่กับพัฒนาปูนที่มีส่วนผสมของยางพารา เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้างทางเลือกใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ” ณพรัตน์กล่าว

ยางพารา

มจพ.

นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวเพิ่มเติมว่า สนามฟุตซอลยางพาราจะแล้วเสร็จในวันที่ 8 ธันวาคม และพร้อมสำหรับการแข่งขัน “บึงกาฬฟุตซอลคัพ 2019” นัดเปิดสนามวันที่ 13 ธันวาคมนี้ นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดบึงกาฬที่มีการแข่งขันฟุตซอลบนสนามยางพารา 100%

“ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชาวบึงกาฬทุกคนภูมิใจมากที่วันนี้จะได้มีสนามกีฬาที่ทำจากยางพาราแท้ๆ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบึงกาฬในการร่วมแก้ปัญหาราคายางพารา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬา สร้างสามัคคี มีสุขภาพที่ดีและห่างไกลยาเสพติด” นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าว

ยางพารา

มจพ.

การแข่งขัน “บึงกาฬฟุตซอลคัพ 2019” บนสนามยางพารา 100% จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท ผู้ชนะจะได้รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เปิดสนามนัดแรก วันที่ 13 ธ.ค. 2561 ที่สนามฟุตซอล อบจ.บึงกาฬ

ผลงานถัดมาเป็นของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ครั้งนี้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัย 2 เรื่อง ได้แก่ กาวดักแมลงจากน้ำยางพารา Para TRAP ที่ใช้งานง่าย ดักแมลงได้ดี ผลิตจากน้ำยางพาราในประเทศและวัตถุดิบอื่นจากธรรมชาติ เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่ต้องการดูแลผลิตผลจากสวนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ยางพารา

เอ็มเทค-สารบีเทพ

น้ำยาง ParaFIT ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนการระเหยแอมโมเนีย และไม่มีกลิ่นฉุนขณะผลิตโฟมยางจึงปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้งาน ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน สามารถผลิตโฟมยางที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน ในขณะที่น้ำยางทางการค้าต้องใช้เวลาถึง 21 วัน จึงช่วยลดต้นทุนให้ผู้ผลิตน้ำยางพาราข้นและประหยัดเงินลงทุนในการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้นอีกด้วย

อีกผลงานสารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่น “สารบีเทพ” (BeThEPS) โดย ฉวีวรรณ คงแก้ว ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล และ สุริยกมล มณฑา ทดแทนการใช้แอมโมเนียและโซเดียมซัลไฟด์ ทำให้ยืดอายุน้ำยางสดได้นานกว่าเดิม 1-3 วัน เพิ่มปริมาณยางแผ่นรมควันคุณภาพดี ลดปริมาณยางตกเกรด รวมถึงประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการขนส่งน้ำยางสด เพื่อใช้แทนแอมโมเนียและโซเดียมซัลไฟต์ ช่วยให้ชาวสวนยางได้มูลค่าเพิ่มราว 900 บาท ต่อการผลิตยางแผ่น 1 ตัน

ยางพารา

เอ็มเทค-น้ำยาง ParaFIT

หัวข้อสัมมนาในโซนเวทีปราชญ์ชาวบ้าน วันที่ 14 ธ.ค. เวลา 13.00 น. เป็นเรื่อง “สารบีเทพ” สารรักษาสภาพน้ำยางสด เพื่อแปรรูปยางแผ่น โดย สุริยกมล มณฑา ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส จากนั้น 14.00 น. เป็น หัวข้อ “น้ำยางพาราข้นสูตรใหม่ เพื่อผลิตหมอนและที่นอนยางพารา” โดย ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส เอ็มเทค

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำเสนอผลงานบุกเบิกและค้นคิดนวัตกรรมงานวิจัย ถนนยางพาราดินซีเมนต์ (Para Rubber Soil Cement) โดยเริ่มจากนำเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนผสมเป็นหลักวิทยาศาสตร์

ผู้วิจัยนำน้ำยางธรรมชาติมาผสมรวมกับสารเคมี เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำยาพอลิเมอร์สังเคราะห์จากต่างประเทศและมีราคาสูง มาใช้ในการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์นั้นนำไปประยุกต์ได้หลายรูปแบบ ทั้งถนนดินลูกรังตามชนบทแบบไร้ผิวทางหรือถนนแบบมีผิวทางเป็นคอนกรีตหรือลาดยางมะตอย

“การสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้ปริมาณน้ำยางพาราสด (Dry Rubber Content; DRC 30%) ประมาณ 12,000 กิโลกรัม หรือน้ำยางพาราข้น 6,000 กิโลกรัม”

ข้อดีของถนนยางพาราดินซีเมนต์ 1.เพิ่มความทนทานต่อแรงกดอัด 2.เพิ่มความทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาด 3.ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี 4.ลดการเกิดฝุ่นในดินและซีเมนต์

ผู้ร่วมงานฟังรายละเอียดเรื่องนี้ ผศ.ดร.ระพีพันธุ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ มจพ.เสวนาเรื่อง “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทางรอดของการใช้ยางพารา” เวลา 14.00-15.00 น. วันเสาร์ที่ 15 ธ.ค.นี้

ส่วนผลิตภัณฑ์ งานวิจัย และกิจกรรมต่างๆ พบได้ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน