โขน มรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ : รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

โขน มรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ : รู้ไปโม้ด – ให้ทั้งโขนไทยและโขนกัมพูชาเป็นมรดกโลกทั้งคู่ ไม่เหมือนกันหรือ และมรดกทางวัฒนธรรมมีเงื่อนไขอย่างไร

เวียงสา

โขน มรดกวัฒนธรรม

ตอบ เวียงสา

วันที่ 29 พ.ย. 2561 เว็บไซต์องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก-UNESCO) ประกาศรับรองให้ “โขนไทย” (Khon, masked dance drama in Thailand) เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-1 ธ.ค. 2561 ที่เมืองพอร์ต ลูอิส สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกเข้าร่วมประชุม 181 ประเทศ พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย “Khon, masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ

โขน มรดกวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ก่อนหน้า 1 วัน คือวันที่ 28 พ.ย. ที่ประชุมดังกล่าวประกาศรับรอง “ลคอนโขลวัดสวาย อันเด็ต” (Lkhon Khol Wat Svay Andet) โขนรูปแบบหนึ่งจากประเทศกัมพูชา ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการสงวนรักษาโดยเร่งด่วน (urgent list)

มีคำอธิบายจาก ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมยูเนสโกเพื่อการพิจารณามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติครั้งนี้ ให้รายละเอียดโดยระบุถึงประเภทของการขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้ง 3 ประเภท และ “ลครโขลวัดสวายอันเด็ต” ของประเทศกัมพูชา กับ “โขนไทย” เป็นการขึ้นทะเบียนคนละประเภทกัน ดังนี้

การขึ้นทะเบียนมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชื่นชมการมีอยู่ของรายการมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศภาคีสมาชิก โดยการขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มี 3 ประเภท คือ 1.บัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (representative list of intagible cultural heritage of humankind) 2.รายการที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน (urgent list) และ 3.รายการมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา (good practice)

โขน มรดกวัฒนธรรม

การขึ้นทะเบียน “ลครโขลของวัดสวายอันเด็ต” ของประเทศกัมพูชา เป็นการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญคือความเป็นโขนที่ชุมชนร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ ขณะที่การขึ้นทะเบียน “โขนไทย” เป็นการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ 1 มีสาระสำคัญคือเป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ

รายละเอียดดังที่ ดร.อนุชากล่าวมา ชี้ชัดว่า โขนไทยและกัมพูชาไม่ได้ประชันขันแข่งกันในลักษณะแพ้ชนะอย่างที่มักถูกเข้าใจผิดดังที่ก่อเกิดดราม่าอยู่บ่อยครั้ง

ยังมีคำอธิบายจาก วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ว่า ไม่ถือว่าเป็นการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่นำเสนอให้ขึ้นทะเบียน ไม่ใช่การ จดลิขสิทธิ์หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ที่สำคัญการแสดงโขนของกัมพูชาและการแสดงโขนในประเทศไทยต่างมีแบบแผนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิ ของประเทศ

ฉบับพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) ว่าด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • รู้ไปโม้ด : โขน : ไทย-กัมพูชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน