เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (18 ธ.ค.) “ลูกนัท” อยากทราบประวัติเรือพระที่นั่ง ที่จัดแสดงในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งจัดแสดงการจำลองและจัดสร้างเรือพระราชพิธี จำนวน 4 ลำ เมื่อวานตอบเกี่ยวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ไปแล้ว วันนี้ตอบเรื่องเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ชื่อมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้น คำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรือ งูทั้งหลาย ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน และ (ประดับด้วย) อัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียกวาสุกรี) ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7 อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย

เรื่องราวจากคัมภีร์ข้างต้นให้อิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทยที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ใต้โลกของเรามีปลาอานนท์ ซึ่งแบกโลกไว้ คราใดปลาอานนท์ขยับตัว โลกจะสั่นคลอนเกิดแผ่นดินไหว และยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ พระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราชซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลายและเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช ส่วนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2457

หัวเรือจำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ฝีพายทั้งสิ้น 54 คน

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ นาคะ นาคะ หรือไทยเรียกว่า นาค เป็นเทพในฮินดูปกรณัมปรัมปรา บางครั้งก็ปรากฏในพระพุทธศาสนาด้วย นาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาคเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ เทพเจ้าหลายองค์ของศาสนาฮินดูโยงใยกับนาคหรือที่ปรากฏในรูปร่างของงู หรือ งูเทพ (งูทิพย์) เช่น พระวิษณุบรรทมบนพญานาคอนันตะหรือเศษะนาคทอดตัวอยู่เหนือแผ่นน้ำ รูปแบบของ งูหรือนาคตัวเล็กๆ จำนวนมากที่หัวเรือเช่นนี้ น่าจะหมายถึงนาคที่มีจำนวนนับพันซึ่งเป็นเหล่าบรรดานาคที่กำเนิดจากมหาฤษีกัศยปะและนางกัทรุ นาคเหล่านี้อาศัยอยู่ในโลกบาดาล เรียกว่า นาคโลก แปลว่าโลกของนาคทั้งหลาย ตามปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติ เมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน ฝีพาย 61 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน