เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก – อยากทราบประวัติเรือพระที่นั่งที่จัดแสดงในงานอุ่นไอรัก

ลูกนัท

ตอบ ลูกนัท

งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตน โกสินทร์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต จัดแสดงการจำลองและจัดสร้างเรือพระราชพิธี จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นหนึ่งในเรือพระที่นั่งและพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค ตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราวปี พ.ศ. 2091 คือ เรือสุวรรณหงส์ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ และสมัยรัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325-2352) ปรากฏชื่อเรือ พระที่นั่งสุวรรณหงส์ และรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367-2394) ปรากฏชื่อเรือ พระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์

ในหนังสือตำนานเรือรบไทย พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ว่า เรือศรีสุพรรณหงส์สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2370 มีหมายรับสั่งให้จัด เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เป็นเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทน์ ส่วนในจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกชื่อเรือนี้ว่า เรือศรีสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งงานอุ่นไอรัก

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นใหม่ เพราะลำเดิมผุพังเกินที่จะซ่อมได้ การจัดสร้างมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีพลเรือตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนาวาสถาปนิก ประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ 2454

จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มักใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัว โขนเรือเป็นรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง

เรือมีความยาว 44.9 เมตร กว้าง 3.14 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร กำลัง 3.5 เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล 3.5 เมตร) น้ำหนัก 15 ตัน พายทอง ฝีพายทั้งสิ้น 50 นาย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยนำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เป็นต้นแบบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณจัดเป็นเรือ พระที่นั่งกิ่ง ลำเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชื่อว่า มงคลสุบรรณ หัวเรือเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกทาสีแดง ฝีพาย 65 คน

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ยืนประทับบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในศาสนาพราหมณ์ โขนเรือทำจากไม้สักทองลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คทา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็นก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่หัวก้านขด ส่วนท้ายเรือมีลักษณะคล้ายท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ ลำเรือทำจากไม้ตะเคียนทอง แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ มีลวดลายเป็นลายพุดตาน สีท้องเรือเป็นสีแดงชาด ขนาดของเรือมีความยาว 44.3 เมตร ความกว้าง 3.2 เมตร ความลึก 1.1 เมตร กินน้ำลึก 0.4 เมตร ระวางน้ำบรรทุกขับเต็มที่ 20 ตัน ฝีพาย 50 นาย

ฉบับหน้า พบกับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน