ไหว้ศาลหลักเมือง หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง

ไหว้ศาลหลักเมือง หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง – ในช่วงส่งท้ายปีเก่า รับดิถีปีใหม่ หลายๆ ท่านก็คงมีโอกาสร่วมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อสร้างเสริมมงคลชีวิต แต่ถ้าจะให้ดี ควรหาโอกาสกราบพระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองตลอดทั้งปี

ไหว้ศาลหลักเมือง หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง

ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

ถ้ายังนึกไม่ออก ขอแนะนำสถานที่ ที่ควรจะไปกราบสักการะ นั่นคือ “ศาล หลักเมือง” ประจำจังหวัด

ย้อนไปในอดีต เมื่อครั้งมีการสร้างเมือง ตามประเพณีไทยแต่โบราณนั้น เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ ต้องหาฤกษ์หายามอันเป็นมงคลยิ่ง ทำพิธีฝัง “เสาหลักเมือง” เพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นนิมิตมงคลแก่บ้านแก่เมือง หลังจากนั้น จึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป

ในพงศาวดารยังได้กล่าวถึงประเพณีการสร้างเสาหลักเมืองของชนชาติไทยว่า มีปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ทุกๆ จังหวัดของไทย จึงล้วนมีเสาหลักเมือง ศาลหลักเมืองประจำจังหวัดด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองนั้นๆ ตลอดมา เมื่อแขกต่างบ้านต่างเมืองมาเยือน ก็ต้องมากราบไหว้ “เสาหลักเมือง” หรือ “เจ้าพ่อหลักเมือง” ในเบื้องต้น จนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายเรื่องเสาหลักเมือง ไว้ในหนังสือ วงวรรณคดี ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2491 ตอนหนึ่งว่า …

ไหว้ศาลหลักเมือง หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง

ศาลหลักเมืองศรีเทพ เก่าแก่ที่สุด

“หลักเมือง” เป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้น คงจะเป็นด้วยชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลายๆ หมู่ รวมกันเป็นตำบล ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอนั้นเดิมเรียกว่า ‘เมือง’ เมืองหลายๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ๆ เมืองใหญ่ๆ หลายๆ เมือง รวมเป็น มหานคร คือ “เมืองมหานคร”

ตัวอย่างหลักเมืองเก่าแก่ที่สุดในสยามประเทศนี้ ก็คือ หลักเมืองศรีเทพ ในแถบเพชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาจารึก อยู่ในพิพิธภัณฑสถานบัดนี้ เรียกเป็นภาษาอินเดียในสันสกฤตว่า “ขีล” (แปลว่า เสาหรือตะปู) เป็นมคธว่า “อินทขีล” แปลว่า เสาหรือตะปูของพระอินทร์ (หรือผู้เป็นใหญ่)

หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตะปูหัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังคงทำด้วยหินบ้างไม้บ้าง เสาหลักเมืองที่กรุงเทพฯ ทำด้วยไม้ ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ฤกษ์ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ตรงกับปีขาลจัตวาศก จุลศักราช 1144 (พ.ศ.2325)

หลักเมืองนี้ เดิมทีมีหลังคาเป็นรูปศาลา มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงก่อสร้างและปรับปรุงถาวรวัตถุต่างๆ โปรดฯ ให้ยกยอดปรางค์ต่างๆ ตามแบบอย่างศาลที่กรุงเก่า และที่ศาลเสื้อเมือง ทรงเมือง ศาลพระกาฬ และศาลเจตคุปต์ เดิมหลังคาเป็นศาลา ก็โปรดฯ ให้ก่อปรางค์เหมือนศาลเจ้าหลักเมือง…”

ไหว้ศาลหลักเมือง หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง

เทพารักษ์ 5 องค์

จากพระราชนิพนธ์นี้ ทำให้ทราบว่า ประเพณีการตั้งเสาหลักเมือง มาจากประเพณีพราหมณ์ ซึ่งศาสนาพราหมณ์นั้นรุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีปมาก่อนพุทธศาสนา

ครั้นสมัยต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในชมพูทวีป พิธีการทางศาสนาก็ปะปนกันระหว่างพราหมณ์และพุทธ แล้วเผยแผ่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองคู่กันสืบต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

จนถึงยุคปัจจุบัน ประเพณีพราหมณ์ก็ยังคงเป็นพิธีที่นับเนื่องอยู่ในการพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคล เป็นต้น แม้แต่ในสังคมสามัญชนที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การตั้งศาลพระภูมิ ในอาณาเขตบ้านนั่นเอง

การตั้งเสาหลักเมือง เมื่อจะมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ นับเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังจะเห็นว่า เมื่อแรกสร้าง กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.1893 นั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ก็ทรงโปรด ให้มี ‘พิธีกลบบัตรสุมเพลิง’ เพื่อตั้งเสาหลักเมือง และในการขุดดินปฐมฤกษ์ตรงใต้ต้นหมันนั้น พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีขุดพบหอยสังข์สีขาว อันถือเป็นมงคลยิ่ง จึงถือเอา “หอยสังข์ ปราสาท และต้นหมัน” เป็นสัญลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยามาจนทุกวันนี้ เป็นต้น

เมื่อสร้างเสาหลักเมือง ก็จะต้องมีการสร้างศาสนสถานเพื่อประดิษฐาน เรียกว่า “ศาลหลักเมือง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นศาลาจัตุรมุขทรงไทย มีประตูทั้งสี่ด้าน ยอดอาจเป็นแบบปรางค์ แบบปราสาท แบบมณฑป หรือเป็นศาลเจ้าแบบจีน ตามศรัทธาของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ บางพื้นที่อาจพบร่วมกันทั้งเสาหลักเมือง และศาลเจ้าแบบจีน ซึ่งมักมีองค์ประธานศาลเจ้าเป็นเทวรูปไม้ หรือศิลา เรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง หรือเจ้าแม่หลักเมือง

สถานที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่า อาจเป็นตัวจังหวัด หน้าศาลากลางจังหวัด บางอำเภอก็มี เนื่องจากบางอำเภอก็เป็นเมืองเก่ามาก่อน และในชุมชนเล็กๆ ก็อาจมีได้เช่นกัน

ไม่ว่าจะเรียกศาลหลักเมือง เสาหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าแม่หลักเมือง หรืออื่นใดก็ตาม ด้วยเจตนาการจัดสร้างเพื่อเป็นหลักชัย เป็นมิ่งขวัญ และเป็นนิมิตมงคล จึงเป็นที่เคารพศรัทธายิ่งของชาวเมือง มีความศักดิ์สิทธิ์และความอัศจรรย์เป็นที่ปรากฏ

โดยจะเห็นได้จากสิ่งของแก้บน ทั้งหัวหมู บายศรี ผลไม้ ละครรำ ช้าง ม้า ฯลฯ ที่ตั้งเรียงรายอยู่เต็มบริเวณหน้าศาล…

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีเสาหลักเมืองคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เยื้องกับพระบรมมหาราชวัง จึงถือเป็นหลักชัยคู่บารมีกรุงรัตนโกสินทร์

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ตามประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา เป็นหนึ่งในพิธีพราหมณ์ที่ว่าไว้ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น โดยโหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้าแล้วบรรจุดวงชะตาเมืองไว้ในเสาหลักเมือง

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์องค์สำคัญ 5 องค์ ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬ ไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เพื่อปกป้องคุ้มครองและสร้างความร่มเย็นแก่ประเทศชาติและประชาชนที่พึ่งพระบรมโพธิสมภารทั่วประเทศ

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร จึงนับเป็นหลักชัยที่เคารพศรัทธาและที่พึ่งทางใจของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อใดที่มีโอกาสเข้ามาในอาณาบริเวณ ก็จะต้องมากราบสักการะขอพร โดยเชื่อว่า หากได้มาขอพรเสาหลักเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลาย ณ ศาลหลักเมืองนี้แล้ว จะตัดเคราะห์ เสริมโชคชะตา เสริมความมั่นคงรุ่งเรืองในชีวิต และประสบความสำเร็จในสัมมาอาชีพ

แต่ละวันจึงมีผู้คนมากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก โดยทางศาลได้จัดสร้างเสาหลักเมืองจำลอง ให้ได้สรงน้ำ ปิดทอง และผูกผ้าแพร ก่อนเข้าไปสักการะองค์จริงที่อยู่ด้านใน

คาถาบูชาองค์พระหลักเมือง

ท่องนะโม 3 จบ ต่อด้วยพระคาถา “ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเหอานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน