นักษัตร : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

นักษัตร : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – น้าชาติคะ ชื่อ ปีกุน ปีมะแม ปีต่างๆ ได้มาอย่างไร อยากรู้

ภาณี

ตอบ ภาณี

เข้าเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา http://www.royin.go.th มีคำอธิบายว่า คำว่า นักษัตร (อ่านว่า นัก-สัด) หมายถึง ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้นๆ คือ ปีชวด มีหนูเป็นเครื่องหมาย ปีฉลู-วัว ปีขาล-เสือ ปีเถาะ-กระต่าย ปีมะโรง-งูใหญ่ ปีมะเส็ง-งูเล็ก ปีมะเมีย-ม้า ปีมะแม-แพะ ปีวอก-ลิง ปีระกา-ไก่ ปีจอ-หมา และปีกุน มีหมูเป็นเครื่องหมาย

นักษัตร

การนับปีหรือกำหนดปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมายนี้ ส่วนใหญ่จะใช้กันในแถบเอเชีย เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ทิเบต ส่วนทางซีกโลกตะวันตกจะใช้ตัวเลขเป็นเครื่องกำหนด

สำหรับที่มา ที่ไปของการ ใช้รูปสัตว์เป็นเครื่องหมายในแต่ละปี ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดหรือชาติใดเป็นผู้คิดขึ้น และคิดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ในประเทศไทยมีหลักฐานว่าใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 10 ว่า “เมืองนี้หาย ๑๒๑๔ ศกปีมะโรง” และด้านที่ 4 บรรทัดที่ 3-4 ว่า “ชาวอูชาวของมาออก ๑๒๐๗ ศกปีกุน”

วิธีการคำนวณว่าพุทธศักราชใดตรงกับปีนักษัตรใดนั้น ให้เอาปีพุทธศักราชตั้ง หารด้วย 12 แล้วเอาเศษมาเทียบ ดังต่อไปนี้ เศษ 1 ปี ตรงกับปีมะเมีย, เศษ 2 ปี ตรงกับปีมะแม, เศษ 3 ปี ตรงกับปีวอก, เศษ 4 ปี ตรงกับปีระกา, เศษ 5 ปี ตรงกับปีจอ, เศษ 6 ปี ตรงกับปีกุน, เศษ 7 ปี ตรงกับปีชวด, เศษ 8 ปี ตรงกับปีฉลู, เศษ 9 ปี ตรงกับปีขาล, เศษ 10 ปี ตรงกับปีเถาะ, เศษ 11 ปี ตรงกับปีมะโรง และถ้าลงตัวไม่เหลือเศษก็จะเป็นปีมะเส็ง

นักษัตร

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ปีนักษัตร หรือ นักขัต เป็นปีตามปฏิทินสุริยคติไทยและชาติอื่นในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น แบ่งเป็นรอบปี รอบละ 12 ปี แต่ละปีกำหนดสัตว์เรียกเป็นชื่อเรียงกันไป ทั้งนี้ ทางหนึ่งระบุว่า ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรมีที่มาจากจีน เล่าว่า ในสมัยปีใหม่แรกของจีน คือ วันชิวอิก หรือวันที่ 1 เดือนอ้ายของจีน สัตว์ทั้งหลายมาชุมนุมกันหน้าวังหลวงของฮ่องเต้สวรรค์ ฮ่องเต้ประกาศให้สัตว์ 12 ชนิด ที่มาถึงก่อนวันชิวยี่ หรือวันที่ 2 เดือนอ้าย ได้รับแต่งตั้งเป็น องครักษ์ โดยใน 1 วัน สัตว์ 1 ชนิด อยู่ยาม 2 ชั่วโมง, สัตว์ 12 ชนิด อยู่ยาม 24 ชั่วโมง รวมเป็น 12 ยามเฝ้าวังหลวง

นักษัตร

มีหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน (221 ปีก่อนค.ศ.-207 ปีก่อนค.ศ) ก็มีปรากฏรูปปีนักษัตรแล้ว โดยใช้สัตว์ประเภทต่างๆ เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ อันได้แก่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง (มังกรฟ้า ราชวงศ์โจว-ฉิน มังกรมีขายาว 5 เล็บ ลำตัวคล้ายกวางมีปีก) มะเส็ง (พญางูขาว งูใหญ่ พญานาค) มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

สำหรับสัตว์ประจำปีนักษัตร บางที่มีใช้ต่างกันไป ดังนี้ ปีกุน บางที่ใช้ช้างแทนสุกร เช่นภาคเหนือของไทย, ปีเถาะ บางชาติใช้แมวแทนกระต่าย เช่นเวียดนาม รวมถึงปีฉลูที่ใช้กระบือแทนวัว, ปีมะโรง บางชาติใช้งูใหญ่ หรือพญานาคแทนมังกร เช่น ไทย และปีมะแม ที่ญี่ปุ่นใช้แกะแทนแพะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน