ชุบชีวิต ‘บ้านขนมปังขิง’ บ้านไม้เก่าแก่กว่า 100 ปี สู่ร้านกาแฟใจกลางกรุงสุดร่มรื่น

เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่าน บ้านไม้หมายเลข 47 ย่านเสาชิงช้าได้เปิดประตูต้อนรับผู้คนภายนอกเป็นครั้งแรกในฐานะร้านกาแฟชื่อ ‘บ้านขนมปังขิง’

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าบ้านหลังนี้เน้นขายขนมปังขิง เพราะชื่อน่ารัก ๆ ของบ้านหลังนี้นั้น แท้จริงแล้วมาจากแนวคิดสถาปัตยกรรมแบบบ้านขนมปังขิง หรือ Gingerbread House ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก และเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 4

บ้านขนมปังขิง สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2456 โดยอำแดงหน่าย (สกุลเดิมคือ สกุลพราหมณ์) ภรรยาของขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) เป็นผู้ซื้อที่ดินขนาด 47 ตารางวาผืนนี้ หลังจากนั้น ขุนประเสริฐทะเบียนจึงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นสำหรับเป็นที่พักอาศัย ต่อมาพื้นที่ของที่ดินบางส่วนถูกเวนคืนเป็นจำนวน 12 ตารางวา ทำให้ตัวบ้านในหลือพื้นที่ทั้งหมด 35 ตารางวาเท่าที่เห็นในปัจจุบัน

ชุบชีวิต ‘บ้านขนมปังขิง’

เปรียบเทียบรูปถ่ายบ้านขนมปังปิงในปีพ.ศ. 2456 กับบ้านขนมปังขิงในปีพ.ศ. 2562

ปัจจุบัน บ้านขนมปังขิงถูกตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 คือ คุณวิรัตน์ และ คุณธนัชพร คุณารัตนอังกูร นอกจากนี้ยังมีหลานชายของคุณวิรัตน์ คือ คุณเบน-กีรติ คุณารัตนอังกูร ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านคอยช่วยดูแลร้านอีกด้วย

คุณวิรัตน์ คุณารัตนอังกูร

คุณวิรัตน์ คุณารัตนอังกูร

เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบ้านขนมปังขิงด้วยตัวเอง ด้วยลวดลายไม้ที่ประณีตงดงาม และเฉดสีน้ำตาลสุดคลาสสิกให้ความรู้สึกอบอุ่น แต่ก็เต็มไปด้วยความน่าเกรงขามอยู่ในที ทำให้บ้านขนมปังขิงเต็มไปลูกค้าที่เดินเข้ามาเพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และสั่งเครื่องดื่มดับร้อนอย่างไม่หยุดหย่อน เรียกว่าไม่ได้เว้นจังหวะให้พนักงานได้พักกันเลยทีเดียว

ส่วนเมนูนั้นก็มีหลากหลายตั้งแต่กาแฟเย็นซิกเนเจอร์ (ราคา 95 บาท) ส่วนใครชอบความหอมสดชื่นของมินท์น่าจะชื่นชอบเมนู มินท์มัคคิอาโต้เย็น (95 บาท) หรือ มินท์ช็อกมอคค่าเย็น (95 บาท) ส่วนฝั่งขนมไทยนั้น คุณเบนแนะนำว่าต้องเป็นบัวลอยเสิร์ฟพร้อมไอศกรีมใบเตย (120 บาท) หรือจะเป็นเฉาก๊วยเสิร์ฟพร้อมไอศกรีมชาไทยก็ยังได้ (120 บาทเช่นกัน)

บัวลอยเสิร์ฟพร้อมไอศกรีมใบเตย ราคา 120 บาท

คุณวิรัตน์เล่าให้ฟังว่า การฟื้นฟูสภาพบ้านขนมปังขิงนี้เป็นความคิดของคุณแม่ของคุณธนัชพร (ทายาทรุ่นที่ 3) ซึ่งก็คือ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ที่ต้องการจะอนุรักษ์ทรัพย์สินดังกล่าวเอาไว้ ไม่ให้มีการทำลายหรือขายต่อใด ๆ หากแต่คงไว้ให้ผู้คนมีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชม และศึกษาว่าความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตนั้นเป็นเช่นไร

หากสังเกตรายละเอียดภายในบ้าน จะพบว่ายังมีเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ ประดับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเตารีดโบราณ สวิตช์ไฟทรงกลมแบบเก่าคร่ำครึที่ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว หรือแม้แต่โต๊ะเครื่องแป้งแสนรักของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท (ทายาทรุ่นที่ 2) ที่คาดว่าน่าจะมีอายุกว่า 80 ปี

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ประจำตัวเจ้าของบ้านคนแรก คือขุนประเสริฐทะเบียน อยู่ในรูปแบบไม้แกะสลักอยู่บนประตูทางเข้าบ้าน และตามบานหน้าต่าง สัญลักษณ์เขียนเป็นตัวอักษรไทย ข.ไข่ ไม้หันอากาศ และ น. หนู ซ้อนทับกัน อ่านว่า “ขัน” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของขุนประเสริฐทะเบียนนั่นเอง

สัญลักษณ์ประจำตัวของขุนประเสริฐทะเบียน

เมื่อถามคุณวิรัตน์ว่ามุ่งหวังอะไรจากการปรับปรุงบ้านขนมปังขิงและเปิดเป็นร้านกาแฟ คุณวิรัตน์ตอบทันทีว่า “มันคงคำนึงถึงกำไรไม่ได้ ผมว่ากำไรที่เยอะที่สุดคือวันแรก คือวันที่ 9 มกราที่ผมทำพิธีสงฆ์ทำบุญเลี้ยงพระ ผมเชิญญาติผู้ใหญ่ที่เคยอยู่บ้านหลังนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่มาทั้งหมดเลย ทุกคนก็อมยิ้มเลย บอกว่าฉันเคยเกิดในห้องนี้ หมอตำแยมาทำคลอดในห้องนี้เลย อีกคนบอกว่าฉันเคยพักอยู่ห้องนี้ พวกเขาคิดถึงวัยเด็ก อมยิ้มอย่างมีความสุข ผมว่านั่นคือกำไรสูงสุดแล้ว

คุณวิรัตน์เล่าต่อว่า ทันทีที่พิธีทำบุญร้านเสร็จ ก็มีลูกค้าคนแรกเดินเข้าร้านมาทันที

“จบพิธีสงฆ์ปั๊บ มีลูกค้าเดินเข้ามาเลย เขาบอกว่าเขาเดินผ่านตรงนี้บ่อย เห็นบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก พอเห็นผมมาซ่อมแซม เขาบอกว่าตกใจ กลัวมาผมจะรื้อบ้านทิ้ง แต่พอเขาเห็นว่าผมปรับปรุงซ่อมแซมทำให้บ้านมันสวยขึ้นแล้วเปิดเป็นร้านกาแฟ เขาเลยรีบมากิน” คุณวิรัตน์เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

นอกจากนี้ คุณวิรัตน์ยังหวังว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านขนมปังขิงอาจเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ให้กับใครอีกหลาย ๆ คน

“สิ่งที่ผมแอบดีใจอยู่ก็คือว่า ตรงนี้มันอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มีบ้านเก่า ผมอยากบอกว่า หนึ่ง อย่าทำลายมันทิ้ง ลองหาทางดูว่ามันสามารถจะทำเป็นอะไรได้ ถ้าเราเก็บเอาไว้ เราก็ได้ดูคนเดียว สอง เราปรับปรุงซ่อมแซมแล้วเปิดให้คนเข้ามา”

“ผมเชื่อว่า มันมีความทรงคุณค่าของมันที่เราต้องเก็บรักษาไว้”

บ้านขนมปังขิงเปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 11:00 – 20.00 น. สถานที่ร้านตั้งอยู่ในซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ ใกล้ถนนดินสอและเสาชิงช้า สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/house2456/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน