เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – อยากได้ความรู้เกี่ยวกับเมรุรูปนกในวรรณคดี หัสดีลิงค์ เป็นมาอย่างไร

เกศทิพย์

ตอบ เกศทิพย์

คำตอบนำมาจาก เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เรื่องเมรุชั่วคราวนกหัสดีลิงค์ว่า นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อเรียกนกใหญ่ชนิดหนึ่งใน เทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ลักษณะทางกายภาพ รูปตัวส่วนใหญ่มีลักษณะแบบนก แต่มีจะงอยปากเป็นงวงช้าง

เมรุนกหัสดีลิงค์

ประวัติความเป็นมาของธรรมเนียมการทำเมรุศพรูปนกหัสดีลิงค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานอธิบายว่า “เป็นประเพณีจากอินเดียมาสู่เขมร จากเขมรเข้ามาไทยทางภาคอีสาน แล้วทางพายัพ จึงเอาแบบอย่างจากภาคอีสานไปอีกทอดหนึ่ง”

ผู้เขียนยังระบุถึงเมรุชั่วคราวนกหัสดีลิงค์เมืองอุบล : มรดกทางงานช่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานด้วยว่า สำหรับเมืองอุบลตำแหน่งที่จะมีสิทธิ์นำศพขึ้นเมรุนกหัสดีลิงค์ได้นั้น ต้องเป็นเจ้าเมืองและเจ้าอุปฮาด เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และลูกหลาน นอกจากนี้แล้วไม่มีสิทธิ์ที่จะขึ้นนกหัสดีลิงค์ได้ เว้นแต่พระเถระผู้ใหญ่ของเมืองเท่านั้น

เมรุนกหัสดีลิงค์

ด้วยเหตุนี้ พิธีสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์จึงไม่ค่อยมี เนื่องจากเชื้อวงศ์เจ้านายพื้นเมืองถูกยกเลิก คงจะมีได้เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น เจ้านายที่ว่านี้เรียกว่า “อัญญาสี่” โดยในสมัยก่อนต้องสร้างนกหัสดีลิงค์แล้วชักลากไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่สนามทุ่งศรีเมือง เป็นเวลา 3 วัน การเผาศพนกหัสดีลิงค์จะต้องฆ่านกเสียก่อน อนุสนธิตามตำนานกล่าวว่า ผู้ที่จะฆ่าต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากนครเชียงรุ่งโบราณ

ต่อมายุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง (เข้าใจว่าเป็นการเลียนแบบพระราชพิธีหลวงของกรุงเทพฯ จึงให้ยกเลิก) และอนุญาตให้เฉพาะพระเถระที่ทรงคุณธรรม โดยเริ่มจาก พระธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม นับเป็นนกหัสดีลิงค์ตัวสุดท้าย และเป็นพระเถระผู้ใหญ่องค์แรกที่ได้รับเกียรติยศให้ทำพิธีเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ที่ทุ่งศรีเมือง

ลักษณะทางศิลปกรรม โครงสร้างรูปทรงเป็นไม้ไผ่มาจักตอกเป็นรูปนก ทำเมรุหอแก้วบนหลังนก สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดิน ไม่ยกร้านหรือยกพื้นสูงเหมือนปัจจุบัน ประดับตกแต่งด้วยกระดาษกรุ เขียนลายองค์ประกอบที่สำคัญของตัวนกตามคติโบราณ ส่วนหัวนกจะต้องให้งวงม้วนได้ ตากะพริบได้ หันคอได้ หูแกว่ง อ้าปากและมีเสียงร้อง และการสร้างนกจะต้องมีพิธียกครู

เมรุนกหัสดีลิงค์

ยังมีข้อมูลจากคอลัมน์ข่าวสดพระเครื่องว่า ประเพณีการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์เป็นความเชื่อของกลุ่มไทย-ลาวที่อพยพจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาปักหลักปักฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ประเด็นหลักใหญ่ของการปลงศพแบบนี้ คือการให้เกียรติครั้งสุดท้ายกับผู้ตายที่พร้อมด้วยความดีความชอบที่สังคมยอมรับ แสดงถึงอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ตายให้ปรากฏต่อสาธารณชน เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ จะได้รับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์หลังเสียชีวิต คือ 1.กลุ่มอาญาสี่ หรืออัญญาสี่ ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด/อุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร และ 2.พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของชุมชน

ในการปลงศพแบบนี้มีความเชื่อว่านกหัสดีลิงค์เป็นนก ที่ยิ่งใหญ่ มีกำลังและฤทธิ์เดชมากมายมหาศาล สมควรที่จะเป็นพาหนะนำพาดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์

มีตำนานกล่าวถึงหลายตำนาน ตำนานหนึ่งเล่าว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังและฤทธิ์เดชมาก ลักษณะพิเศษคือ มีหัวเป็นช้าง มีร่างกายเป็นนก กินช้างและสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร ทั้งยังบินไปจับคนในเมืองต่างๆ เป็นอาหารด้วย เจ้าเมืองจึงหาบุคคลมีฝีมือที่จะสามารถฆ่านกนี้ได้ สุดท้ายเจ้านางสีดารับอาสา ใช้ศรยิงนกหัสดีลิงค์ตาย จึงทำพิธีเผานกนั้น เมื่อเจ้านายสิ้นชีวิตก็จะสร้างหุ่นนกหัสดีลิงค์ โดยวางหีบศพบนหลังนกและทำพิธีเผาไปพร้อมกับศพ กลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

ดังนั้น ก่อนมีพิธีเผาศพแบบนี้ทุกครั้ งจะต้องทำพิธีสำคัญคือ ฆ่านกก่อน เพราะเป็นนกร้าย ผู้ฆ่านกจะต้องทำพิธีเชิญเจ้านางสีดาเข้าประทับร่างทรงแล้วใช้ศรยิง ร่างทรงดังกล่าวต้องเป็นหญิงผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านางสีดา โดยรับช่วงต่อกันมาเฉพาะคนในตระกูลเท่านั้น

ฉบับพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) อ่านต่อถึงตำนานอันเป็นที่มาของเมรุและการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน