แพทย์ถอดรหัส‘ฝุ่นจิ๋ว’ ชี้4ประเด็นต้องเร่งแก้ : รายงานพิเศษสุขภาพ

แพทย์ถอดรหัส‘ฝุ่นจิ๋ว’ ชี้4ประเด็นต้องเร่งแก้ : รายงานพิเศษสุขภาพ – แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และชมรมลมวิเศษ โครงการอุ่นใจใกล้แพทยสมาคม โดยคณะกรรมการชมรม ‘ลมวิเศษ’ จัดแถลง ‘ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว’ เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่าง หนาแน่น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอยู่ในขณะนี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อคืนลมหายใจดีๆ กลับสู่คนกรุงเทพฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 ม.ค.

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือที่เรียกว่า PM2.5 ได้ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกนับพันล้านบาทต่อปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ขอแสดงความห่วงใยในสุขภาพของคนไทย และขอเป็นอีกแรงหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพฯ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นรุนแรง ผลกระทบในระยะสั้นที่รุนแรง คือ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น ระยะยาวที่ร้ายแรงคือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้อายุขัยสั้นลง 0.98 ปี

2.การกำหนดค่ามาตรฐาน สำหรับประเทศที่มีระดับมลพิษสูงมากๆ เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ตั้งเป้าหมายลดมลพิษเป็นลำดับขั้นให้ชัดเจน เช่น ขั้นแรกตั้งเป้าหมายค่าเฉลี่ยรายปีลดให้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. และเมื่อทำได้ก็ตั้งเป้าหมายระยะกลางลดให้ได้ไม่เกิน 25, 15 และสุดท้าย 10 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ

3.การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน สำหรับการเตือนประชาชนอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพน้อยที่สุด และกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและมีมาตรการรองรับตามสมควรกับระดับดัชนีคุณภาพอากาศ

และ 4.คุณภาพอากาศในบ้าน ในห้อง ในอาคาร คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการหลีกเลี่ยงฝุ่นโดยเก็บตัวอยู่ในบ้านหรือในอาคารก็ปลอดภัยเพียงพอ ออกไปที่โล่งค่อยใส่หน้ากาก N95 เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเมื่อพักอยู่ในอาคารจะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม อากาศภายนอกยังคงเล็ดลอดเข้ามาในอาคาร ฝุ่นจิ๋วในอาคารลดต่ำลงจากภายนอกเพียงแค่ร้อยละ 15-20 ดังนั้น เมื่ออยู่บ้านหรือห้องทำงานการมีเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงที่คุณภาพอากาศภายนอกไม่ดี

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า จากนี้ไปคนกรุงเทพฯ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ให้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น เช่น การใส่หน้ากากในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสูง การงดกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง การใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน การเช็ดถูบ้านด้วยผ้าเปียก แทนการกวาดบ้านหรือดูดฝุ่น เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลดที่มาของฝุ่นทั้งแหล่งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก นอกจากนี้ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตและขนส่งให้มีฝุ่นน้อยลง การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยนต์ต่างๆ รวมทั้งต้องมีระบบการแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน