ผู้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล มุ่งวิจัยเพื่อให้คนไข้หายป่วย

ผู้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล มุ่งวิจัยเพื่อให้คนไข้หายป่วย – การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นับเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าทั้งด้านวิชาการและเทคโนโลยีเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ประสบภาวะความเจ็บป่วย

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 แก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ (Professor Brian J. Druker) ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งไนท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐอเมริกา มีผลงานสำคัญในการศึกษาและวิจัยยาต้นแบบ “อิมาทินิบ” เพื่อรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล โดยสามารถลดความรุนแรง อัตราการตาย และความพิการของผู้ป่วยโรคซีเอ็มแอลที่ได้รับยาดังกล่าว จากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาดังกล่าวจะมีอาการหนักจนเสียชีวิตภายใน 3 ปี

ศาสตราจารย์ดร.แมรี่ แคลร์ คิง

และศาสตราจารย์ดร.แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King) จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ และพัฒนาการตรวจยีนมะเร็งด้วยเทคนิคใหม่เพื่อนำไปใช้ได้ทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันการตรวจหายีนมะเร็งมีราคาถูกจนคนเข้าถึงได้จำนวนมาก ป้องกันการเสียชีวิตจากการลุกลามของโรคได้อย่างกว้างขวาง

ด้านสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R. Holmgren) ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคในประชากรหลาย ล้านคนทั่วโลก

จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2561 ณ พระที่นั่งบรมราช สถิตยมโหฬาร และเสด็จฯ กลับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์

ศาสตราจารย์นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ กล่าวถึงการศึกษาและวิจัยยาต้นแบบ “อิมาทินิบ” เพื่อรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าว่า การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันนั้นส่วนมากจะเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งเคมีบำบัดไม่เพียงส่งผลต่อเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์ แต่ยังส่งผลไปถึงยีนปกติด้วย

ศ.ดรูเคอร์เริ่มคิดค้น “อิมาทินิบ” เพื่อรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ชนิดซีเอ็มแอล ซึ่งจะไม่ทำให้การรักษาไปทำลายยีนที่ดีในร่างกายเรา ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่รักษาแบบมุ่งเป้าร้อยละ 95 สามารถมีชีวิตยืนยาวมากกว่า 5 ปี และใช้ชีวิตได้เช่นคนปกติ

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน กล่าวว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร การระบาดทั่วโลกครั้งแรกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายล้านคน การใช้วัคซีนป้องกันโรคชนิดฉีดมาเป็นเวลานาน แต่พบว่ามีประสิทธิภาพต่ำ จึงเสนอผลการวิจัยว่าภูมิต้านทานที่สำคัญในการป้องกันอหิวาตกโรคคือชนิดไอจีเอ ซึ่งสร้างขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร

 

ดังนั้นการให้วัคซีนชนิดกินจึงมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเพื่อแสดงประสิทธิผลของวัคซีนชนิดกินในการทดสอบทางคลินิก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคควรเป็นชนิดกินและยุติการใช้วัคซีนชนิดฉีด โดยตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ.2030 จะสามารถควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคได้ทั้งหมด

บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 4 คนที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการทำงานหรือในการศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นได้เพราะมีคนไข้เป็นแรงบันดาลใจ เมื่อเห็นคนไข้หายป่วยและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แพทย์ทุกคนจะมีความสุขและมีแรงใจในการทำงานเพื่อคนไข้ต่อไป

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มอบรางวัลให้บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 79 ราย ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบล รวม 5 ราย และ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหลังจากนั้น โดยมีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน