รายงานพิเศษ : ลดเสี่ยง‘โรคหัวใจ’ หมอแนะปรับพฤติกรรม

 

รายงานพิเศษ : พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคหัวใจ หมายถึงกลุ่มโรคที่มีผลต่อระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น โรคหัวใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ

ปัจจุบันสาเหตุที่พบมากและเป็นอันตรายที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นำไปสู่อาการหัวใจวาย เดิมเชื่อว่าภาวะนี้เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน แต่ในปัจจุบันหัวใจวายที่พบบ่อยมักเกิดจากผนังหลอดเลือดด้านในแตกจนเกิดการสะสมของลิ่มเลือดและนำไปสู่การอุดตันของเส้นเลือดแบบเฉียบพลัน

การแตกของผนังหลอดเลือดด้านในนี้เกิดจากภาวะการอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากอารมณ์แปรปรวน อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อนุมูลอิสระ ตลอดจนถึงภาวะความร้อนภายในร่างกาย การทำงานของฮอร์โมน การทำงานของประสาทอัตโนมัติ

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้นควรเป็นหน้าที่ของแพทย์

แต่ตัวเราเองก็สามารถสังเกตภาวะร่างกายตนเองได้ ทั้งภาวะโรคอ้วน เครียดมากเกินไป อาการใจร้อน อารมณ์ร้อน รวมถึงภาวะอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ เป็นต้น

อาการเริ่มต้นของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้น จะแสดงออกในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได หรือเมื่อโกรธ จะรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือดจะแตกต่างจากการเจ็บแบบอื่น โดยจะเจ็บแน่นๆ บริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือสองด้าน บางรายจะเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย หรือมีอาการปวดไปถึงกรามคล้ายเจ็บฟัน เมื่อหยุดออกกำลังกายแล้วอาการเจ็บจะดีขึ้น

แต่ถ้าเกิดการอุดตันของเส้นเลือดอาการเจ็บจะยังคงเป็นตลอดแม้หยุดออกกำลังกาย

นอกจากนี้ยังมีอาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น ขาบวม อาจจะเป็นลม หรือมีอาการวูบร่วมด้วย

เมื่อเกิดภาวะบ่งชี้ของการเกิดโรค เช่น เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น ขาบวม ให้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ ควรพบแพทย์ทันที ยิ่งถึงเร็วก็มีโอกาสหายจากโรคได้เร็ว

การดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดนั้น ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตทานอาหารสุขภาพ ไม่เครียดออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

การรับประทานแต่พอควร ไม่ควรให้อิ่มมากทุกมื้อ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอและพอดี โอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจก็จะน้อยลง

วิธีนี้เป็นการป้องกันตนเองก่อนที่จะเกิดโรค

แต่ถ้าเกิดโรคขึ้นมาแล้วการรับประทานยา ผ่าตัด ทำบอลลูนขยายเส้นเลือดที่ตีบ เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่ทำให้หายจากโรค

การฟื้นฟูสภาพร่างกายควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้ถูกต้อง ทานยาประจำสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องกระทำต่อเนื่องและตลอดไป เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำขึ้นอีก

ขบวนการนี้โดยรวมคือการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ เริ่มจากการชะลอความเสื่อมของร่างกายและเส้นเลือด โดยดูแลก่อนการเกิดโรคคือการป้องกันการเกิดโรค การดูแลขณะเป็นโรคคือการรักษา พร้อมช่วยแก้ไขสมรรถภาพร่างกายที่ผิดปกติขณะเป็นโรคให้กลับสู่สภาพเดิม การดำรงพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีต่อเนื่องเป็นประจำหลังการรักษาหายจากโรค เพื่อป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำของโรคเดิม

ดังนั้น ทุกคนต้องเริ่มดูแลสุขภาพฟื้นฟูร่างกาย ชะลอความเสื่อมของหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คงสภาพความหนุ่มสาวกันตั้งแต่วันนี้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน