พระพุทธไสยาสน์ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม : คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรม

พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เจดีย์ที่เชื่อกันว่า เป็นมหาเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ มีการปฏิสังขรณ์ มาหลายครั้ง ครั้งสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการปฏิสังขรณ์มหาเจดีย์องค์นี้ อยู่ตลอดรัชกาล

การปฏิสังขรณ์มหาเจดีย์ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ มาประดิษฐานไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์หลายองค์ ที่สำคัญได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ ภายในพระวิหารด้านทิศเหนือประดิษฐานพระปฏิมาปางพระกุมารพร้อมบริวาร สตรีสองคน

พระพุทธไสยาสน์

วิหารด้านตะวันออกหรือวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธนิรันตราย ปางสมาธิ

วิหารด้านทิศใต้ ประดิษฐานพระปางโปรดปัญจวัคคีย์ ปางประธานปฐมเทศนาพร้อมพระสาวก 5 รูป เป็นพระประธานและพระพุทธรูปปางนาคปรก

พระวิหารทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ยาว 17 เมตร เป็นพระประธานพร้อมพระพุทธรูปปูนปั้นปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ยาว 3 เมตร พร้อมพระสาวก 3 องค์

การประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งแต่พระปฏิมาปางพระกุมารจนถึงพระพุทธรูปปางปรินิพพาน จึงเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า

สัญลักษณ์ของพระนอนปางปรินิพพานที่ประกอบด้วยพระสาวก 3 รูป น่าจะเป็นคติสำคัญที่เน้นไปถึงการแสดงธรรมที่ในพระสูตรเรียกว่ามหาปรินิพพานสูตร ที่รวบรวมสรุปคำสอน แนวทางการปฏิบัติที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งแนวความคิด การปฏิบัติ

ส่วนพระสาวก 3 รูปนั้น เป็นสัญลักษณ์ของภิกษุ ผู้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย และหมายถึง พระภิกษุระดับเอตทัคคะ คือพระอนิรุทเถระ พระอานนท์ ผู้เป็นอุปัฏฐาก และพระอุปวาณะ ผู้เป็นอุปัฏฐากอีกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า

โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน