พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ความสำคัญ (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดยน้าชาติ ประชาชื่น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ความสำคัญ (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (25 ..) สัญญา” ถามเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวานพบกับข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปแล้ว วันนี้ยังมีความรู้จาก ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทางราชสำนักและพระราชพิธี เขียนเรื่อง ข่าวที่เป็นมหามงคล ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 18-24 มกราคม 2562 สรุปความว่า

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นงานพระราชพิธีสำคัญยิ่งยวด เพราะถือกันมาแต่ดั้งเดิมว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนจึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์

ก่อนเวลาที่ทรงรับบรมราชาภิเษก จะกล่าวถึงพระองค์ท่านแต่เพียงว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” คำรับสั่งก็ยังใช้แต่เพียงคำว่า “พระราชโองการ” ต่อเมื่อได้ทรงรับบรมราชาภิเษก ได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมนามาภิไธย และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ครบบริบูรณ์แล้ว จึงถือว่าพระองค์ท่านได้ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากษัตริย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป คำที่เรียกขานก็จะเปลี่ยนเป็นคำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” คำรับสั่งก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “พระบรมราชโองการ”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุดที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเราชาวไทย ที่จะได้เห็นการพระราชพิธีสำคัญคราวนี้พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งประเทศ

รายการหนึ่งที่จะมีขึ้นในงานพระราชพิธีคราวนี้คือการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค มีกำหนดในเบื้องต้นว่าการเลียบเมืองทางสถลมารคจะเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีในเดือนพฤษภาคม ส่วนการเลียบเมืองทางชลมารคนั้น จะได้กระทำพร้อมกันกับการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินในช่วงปลายปี

การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้วเพราะได้เคยพบเห็นมาบ้างแล้วหลายครั้ง แต่ที่ต้องตื่นเต้นกันเป็นพิเศษคือกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ซึ่งมีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2506 ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนครบสามรอบ

ความมุ่งหมายของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครที่จัดเป็นส่วนหนึ่งแห่งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ น่าจะมีเหตุผลว่า ในสมัยก่อนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีการที่เกิดขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมี สื่อที่จะรายงานเหตุการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบก็มีจำกัด หลังจากทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว หากได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราอย่างเต็มยศออกมาภายนอกพระบรมมหาราชวัง ย่อมเป็นโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมยินดี และได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของเขาด้วยสายตาของตนเอง ความเชื่อมั่น ความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาหลายชั่วชั้นบรรพบุรุษก็จะได้เพิ่มพูนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มีประโยชน์อยู่อย่างนี้

เส้นทางที่จะยาตรากระบวนไม่ได้ถูกบังคับแต่ประการใด สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดขึ้น โดยประเพณีที่มีมาแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามสำคัญ เพื่อไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ กับทั้งจะได้ทรงสักการะพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระบรมราชบุรพการีหากมีประดิษ ฐานอยู่ในพระอารามแห่งนั้นด้วย

อ่าน : ธงทอง จันทรางศุ : จากมารดา “ธงทอง จันทรางศุ” กับงานเขียน “แม่คุยกับลูก” : เชียงใหม่

อ่าน : พระราชโองการ : พระราชโองการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน