วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย – กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แยกเป็นหลายกลุ่มในเมียนมา แต่เมื่อถึงงานวันครบรอบปฏิวัติ 70 ปีของการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 บรรดากะเหรี่ยงทุกกลุ่มเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

นอกจากนี้ยังมีชาติพันธุ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผู้แทนไทใหญ่จากรัฐฉาน ผู้แทนรัฐอาระกัน และผู้แทนกองกำลังอื่นๆ รวมถึงผู้แทนจากหลายๆ ประเทศก็มาร่วมงานวาระนี้

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

ชมพิธีสวนสนามท่ามกลางหมอกปกคลุม

พิธีจัดใหญ่โตที่กองพลน้อยที่ 7 ค่ายโกล๊ะหย่อเล ฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สลิดน้อย ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พื้นที่ของกะเหรี่ยงกลุ่มกองทัพปลดปล่อยชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNLA (KAREN NATION LIBERATION ARMY) นำโดย พล.อ.มูตู เซโพ ประธานาธิบดีของรัฐกะเหรี่ยง

นางนั่น ขิ่น ทุย มิ้นท์ (Khin Htwe Myint) นายกรัฐมนตรีรัฐกะเหรี่ยง พร้อมชาวกะเหรี่ยงทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย แห่แหนกันไปงานจำนวนนับหมื่นคน นับเป็นการจัดงานที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยจัดกันมา ทำเอาสะพานไม้ไผ่ที่เพิ่งสร้างขึ้น เพื่องานนี้โดยเฉพาะเพื่อข้ามแม่น้ำเมยจากฝั่งไทยไปยังฝั่งพม่า ตรงค่ายโกล๊ะหย่อเล แออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน

ช่วงกลางคืนนั้นมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิงในหลากหลายรูปแบบ และยังมีร้านค้านำเสื้อผ้าอาหารมาขายกันเป็นแถวยาวเหยียด เหมือนงานวัดในบ้านเราอย่างไรอย่างนั้น

ช่วงเช้ามีการสวนสนามของเหล่าทหารกะเหรี่ยงทั้งชายและหญิง ท่ามกลางหมอกหนาทึบของฤดูหนาวที่ปกคลุมตั้งแต่เช้ามืด แม้กระทั่ง 8 โมงเช้าแล้วก็ยังมีหมอกปกคลุมอยู่ ทำให้ไม่เห็นภูเขาลูกย่อมๆ ที่ล้อมรอบค่ายแห่งนี้

หลังจากทำพิธีสำคัญเสร็จในช่วงเช้า พลเอกซอ จอห์นนี่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ฝ่ายการทหารของ KNU (The Karen National Union) ออกไปต้อนรับแขกเหรื่อที่บ้านพักใกล้กับริมแม่น้ำเมย

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

พล.อ.มูตู เซโพ (ที่2จากซ้าย) ถัดมาเป็นพล.อ.ซอ จอห์นนี่

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกะเหรี่ยง KNLA ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานครบรอบ 70 ปี เป็นไปด้วยดี โดยมีกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ทั้ง 4 กลุ่มเข้าร่วม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย ชี้ให้เห็นว่า วันนี้กะเหรี่ยงได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แม้ที่ผ่านมาจะมีความแตกแยกหรือรบกันก็ตาม แต่วันนี้กะเหรี่ยงทั้ง 4 กลุ่มอยู่ภายใต้ KNU เป็นที่ยอมรับของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ มากขึ้น

ส่วนการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลพม่าเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันพม่ายังเอาเปรียบ ยังบีบและไม่ให้สิทธิแก่ชาวกะเหรี่ยง การที่ นางออง ซาน ซู จี ขึ้นมานั่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐในเวลานี้ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะทหารเป็นผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล

“สิ่งที่กะเหรี่ยงต้องการคือให้จัดการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ เหมือนการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะการเป็นประเทศประชาธิปไตยนั้น ทุกชาติพันธุ์จะต้องเท่าเทียมกันหมด”

หลังจากเสร็จงานวันชาติกะเหรี่ยงที่ค่ายดังกล่าว ได้ไปเยี่ยมโรงเรียน “เหน่โพคี” ของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อ.ท่าสองยาง ซึ่งต้องข้ามแม่น้ำเมยไปอีกฝั่ง จากนั้นนั่งรถโฟร์วีลส์ไปอีกประมาณ 40 นาที เส้นทางเป็นถนนแดงประเภทฝุ่นคลุ้ง ผ่านเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านสุดลูกหูลูกตา

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

สภาพห้องเรียนมีผ้าม่านกั้น

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

พระชายกลาง อภิญาโณ และคณะ

“เหน่โพคี” เป็นโรงเรียนประถมศึกษามีนักเรียน 60 กว่าคน ครู 6 คน สาเหตุที่ไปโรงเรียนนี้ เพราะทางมูลนิธิสหชาติ ที่มี “พระชายกลาง อภิญาโณ” เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณจีรวรรณ ปันสะเภา พยาบาลของร.พ.ท่าสองยาง และคณะ นำลูกบอล และข้าวของเครื่องใช้ พร้อมตุ๊กตาที่ส่วนหนึ่งได้รับบริจาคมาจากผู้ใจบุญนำมามอบให้กับนักเรียนตัวน้อยๆ เพราะรู้ว่าครอบครัวเด็กที่นี่ยากจน

เท่าที่ดูแต่ละคนสวมเสื้อผ้ามอมแมมเก่าๆ แต่ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เมื่อได้รับของแจกจากผู้ใหญ่ใจดี ซึ่งวันนั้นทางมูลนิธิสหชาติและคุณจีรวรรณ ได้นำน้ำแข็งไสใส่ขนมปังราดน้ำแดงมาให้พวกเขากิน และยังนำยาสีฟัน แปรงสีฟัน และรองเท้ามาแจกด้วย

วันชาติกะเหรี่ยง 70 ปีแห่งการรอคอย

ปลื้มเมื่อได้ตุ๊กตา

แต่ที่เด็กผู้หญิงชอบใจสุดๆ ก็คือ ตุ๊กตา บางคนได้ตัวเล็ก บางคนได้ตัวใหญ่ และแม้จะเป็นตุ๊กตามือสอง แต่พวกหนูๆ ก็ชื่นชอบเห็นได้จากแววตาที่เปี่ยมสุข ก่อนกลับทางคณะรับปากว่าจะมาเยี่ยมและนำสิ่งของที่ทางโรงเรียนต้องการมาให้อีกครั้ง

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน