เว็บไซต์บีบีซีรายงานเจาะลึกการแจ้งเกิดของตัวการ์ตูน แพนด้าแดง ชื่อ เร็ตสึโกะ การ์ตูนใหม่ในสังกัดบริษัทซานริโอ ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจสินค้าการ์ตูนญี่ปุ่น นำเสนอมาในชื่อและรูปแบบ เร็ตสึโกะปรี๊ดแตก (Aggretsuko) เพื่อเป็นตัวแทนผู้หญิงวัยทำงานรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น

การ์ตูนแพนด้าแดงเร็ตสึโกะ เป็นสาวอายุ 25 ปี ทำงานออฟฟิศแสนน่าเบื่อหน่าย แม้หน้าตาดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่เวลาที่เร็ตสึโกะโกรธหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานขึ้นมาล่ะก็ สีหน้าในจินตนาการจะเปลี่ยนเป็นเจ๊โหดขึ้นทันที

“ซักวันฉันจะลาออก” “ นี่ไม่ใช่ชะตากรรมของฉัน” เร็ตสึโกะได้แต่กรี๊ดๆ กรีดร้องอยู่ในใจ เพราะนาทีที่กำลังจะกลับบ้าน หัวหน้ากับยกงานตั้งเบ้อเริ่มมากองบนโต๊ะให้หล่อนมากขึ้นๆ การระบายออกถึงความเจ็บใจ คือการไปแหกปากร้องคาราโอเกะคนเดียวและร้องเพลงร็อกหนักๆ เน้นๆ เนื้อหาบ่นโอดโอยถึงชีวิตทั้งวันที่ได้เผชิญ ฝ่าฟันมา


“เร็ตสึโกะทำให้ฉันนึกถึงตัวเองตอนอายุ 25 ปี” น.ส.เรอิกะ คาตาโอกะ สาวที่เคยทำงานออฟฟิศแต่ตอนนี้มาอยู่กับแม่ที่บ้าน กล่าวและว่า ตัวเองก็เคยพ่นความโกรธแบบนั้นในที่ทำงาน

การเป็นหญิงสาวที่น่ารัก หรือคาวาอี้นั้น เป็นส่วนสำคัญตามแบบฉบับหญิงญี่ปุ่นที่ดี แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสุดท้ายแล้วเด็กก็ต้องเติบโตขึ้นเป็นสาวทำงาน เร็ตสึโกะจึงตอบโจทย์ตรงนี้ ตรงข้ามกับการ์ตูนเฮลโล คิตตี้ ซึ่งเป็นทูตแห่งความน่ารักคิกขุของญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี

สังคมชาวญี่ปุ่นมักสอนให้เด็กหญิงมีพฤติกรรมที่สุภาพตั้งแต่อายุน้อยๆและบ่อยครั้งเข้มงวดให้อยู่ในกรอบมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งไม่เพียงบุคลิกภาพแต่รวมถึงนิสัยด้วย ทำให้บริษัทซานริโอของญี่ปุ่นผลิตสินค้าที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่น่ารัก อย่างปรากฏการณ์ฮิตระดับโลก เฮลโล คิตตี้ ที่กลายเป็นทูตวัฒนธรรม แม้กระทั่งปรากฏตัวในวิดีโอทางการศึกษาเพื่อสอนมารยาทแก่เด็กๆ

ชาร์ลี ชิกะซากิ นักวิจัยหญิง กล่าวว่า เด็กหญิงญี่ปุ่นทุกข์ทรมานจากโครงสร้างทางสังคม ซึ่งคาดหวังให้มีพฤติกรรมอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ผู้หญิงส่วนมากมีสองด้าน ด้านหนึ่งภายนอกอาจจะดูน่ารักๆ ใสๆ แต่ภายในก็สามารถรู้สึกโกรธ ก้าวร้าวได้ ซึ่งบริษัทซานริโอได้แสดงถึงผู้หญิงประเภทนี้ผ่านเร็ตสึโกะออกมาได้ดีทีเดียว

และในสังคมที่ให้ค่านิยมเรื่องความสุภาพอย่างมากนั้น เราจะไม่เห็นคนในสังคมแสดงอารมณ์ดิบๆ เถื่อนๆ ออกมาต่อหน้าสาธารณชนและในภาษาญี่ปุ่นเองไม่มีคำที่เทียบได้กับคำสบถเป็นภาษาอังกฤษที่อาจเคยได้ยินในที่ทำงาน

สำหรับกำเนิดเร็ตสึโกะนั้น มาจากการโหวตตัวการ์ตูนซึ่งมีให้เลือกหลายตัว ของพนักงานบริษัทซานริโอและคนอื่นๆ โดยมีแนวคิดคือมนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานออฟฟิศ

คนออกแบบใช้นามแฝงว่า เยติ เผยทีีมาถึงการเฝ้าสังเกตุพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมทำงานแบบบริษัท จนได้ยินเสียงหัวใจของพวกเขากรีดร้อง พร้อมเสริมว่า สภาพแวดล้อมในที่ทำงานของญี่ปุ่นกลายเป็นประเด็นปัญหาบ่อยครั้งและตนคิดว่ามีคนจำนวนมากทนอยู่ด้วยความเครียด

สภาพแวดล้อมที่ทำงานของญี่ปุ่นเป็นหัวข้อที่ถกเถียงเพราะเกิดเหตุที่คนทำงานหนักจนตาย โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานของเด็นสุ บริษัทโฆษณาแถวหน้าของญี่ปุ่นลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ลูกจ้างวัย 24 ปีฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ปีที่แล้ว หลังจากเผชิญกับชั่วโมงงานมากเกินไป

ชิกะซากิระบุว่าจากแรงกดดันที่ต้องทำตัวให้น่ารักและประพฤติอย่างเหมาะสมที่ทำให้ตนเริ่มร้องเพลงแนวผู้ชายเป็นเวลาสัก 1 ปีมาแล้ว เพื่อแสดงความรู้สึกและอารมณ์ออกไป

“ฉันร้องเพลงทั้งในกรุงลอนดอนและกรุงโตเกียว แต่พบว่าคนลอนดอนรับฉันได้ แต่ในญี่ปุ่น ฉันไม่แม้แต่จะหวังเลยว่าคนญี่ปุ่นจะเข้าใจ ดังนั้นจึงไม่บอกที่ทำงาน”

น.ส.โมโมะ โอมุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร กล่าวว่า สุภาพสตรีที่น่ารัก มักจะดื่มของมึนเมาได้ในสังคมญี่ปุ่น แต่อย่าดื่มมากเกินไปจนเกินหน้าเกินตาผู้ชาย เพราะไม่ใช่พฤติกรรมของแฟนสาวที่จะอวดเก่งในลักษณะนั้นต่อหน้าแฟนหนุ่ม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน