พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงร่วมการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติ ธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือสถาบันทีไอเจ จัดขึ้นในโอกาสเปิดโครงการ โรด์ โปรแกรม เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ห้องประชุม 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราช ดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา

นับเป็นพระภารกิจแรกในฐานะ “ทูตสันถวไมตรี ด้านการส่งเสริมหลักนิติ ธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตามคำกราบทูลเชิญของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลักสูตรอบรมสำหรับเครือข่ายผู้นำและผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 200 คน

ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสปาฐกถาพิเศษ ความว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันทีไอเจ งานนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีความสำคัญในการที่เราเริ่มดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสปฏิบัติภารกิจใหม่ของข้าพเจ้าในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระองค์ภารับสั่งว่าหลักนิติธรรม ความสันติภาพ ความยุติธรรมและความมั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของงานของเราที่จะทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ หลักนิติธรรมทำให้เกิดภาวะซึ่งประชาชนทั้งหลายสามารถใช้สิทธิพื้นฐานต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการเลือกปฏิบัติ หลักนิติธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในชีวิตของผู้คนที่จะรู้สึกและเกิดขึ้นได้ของคนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าสถานะของพวกเขาจะเป็นเช่นใด ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือทัศนคติและการตระหนักรู้ของผู้คนว่าเราควรจะต้องเคารพกฎหมาย

โอกาสนี้ พระองค์ภาทรงยกตัวอย่างจากแนวทางการดำเนินโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้การพัฒนาทางเลือกที่ยกตัวอย่างมานั้นประสบความสำเร็จเนื่องมาจากการที่ภาครัฐเข้าใจอย่างชัดเจนว่าก่อนใช้กฎหมายบังคับให้ชาวบ้านปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดควรคำนึงถึงเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องธรรมเนียมประเพณี หากขาดการสนับสนุนเรื่องที่ดินทำกิน การบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม สาธารณสุข หรือการศึกษา กฎหมายที่เคร่งครัดก็ไร้ประโยชน์ คนเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุน การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายจึงจะเป็นไปได้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงวางเงื่อนไขแวดล้อมที่จะทำให้หลักนิติธรรมสามารถเกิดได้ในสังคม โดยเริ่มจากการช่วยให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงชีพได้ก่อนเป็นสำคัญ เราคงจะต้องยอมรับว่าถ้าเกิดเราเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบเดิมๆ นั้น คงจะไม่เป็นประโยชน์จากบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากเขานั้นยังขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เมื่อเราได้ให้ปัจจัยพื้นฐานแก่เขาแล้วก็จะเป็นเวลาที่ให้เขาเคารพกฎหมาย”

ขณะที่ นายลุค สตีเวนส์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติและผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ประจำชาติไทย กล่าวว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชร กิติยาภา ทรงงานด้านนิติธรรมในหลายๆ มิติ อาทิ แบง ค็อก รูส์ เป็นการลดช่องว่างระหว่างหญิงและชาย ทำให้เกิดเป้าหมายของความยุติธรรม

ด้าน นายเจเรมี่ ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า เราได้ทำอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากยาเสพติด ลดการติดสินบน โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับหลักนิติธรรม รวมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อให้ความสุจริต ทั้งนี้เราได้ทำงานร่วมกับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อย่างลึกซึ้งเพื่อเป้าหมายลดความรุนแรง การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระบบยุติธรรม การปฏิรูปเรือนจำและผู้ต้องขัง ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน