คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ สมัยใดครับ

ปุ้ม

ตอบ ปุ้ม

คำตอบนำมาจากอธิบายของ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ศาสนาพราหมณ์และคณะพราหมณ์เข้ามามีบทบาทในดินแดนประเทศไทยก่อนที่คนไทยจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ไทยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาหลายทาง ทางแรก ได้แก่ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลผ่านทางเขมรซึ่งขณะนั้นคืออาณาจักรฟูนัน ราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยเขมรมีอิทธิพลและบทบาททั้งทางการเมืองและศิลปะอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานจากโบราณสถาน เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย

ทางที่ 2 ได้แก่ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันตก ได้รับอิทธิพลผ่านอาณาจักรทวารวดีที่มีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลาง โดยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาจากอินเดียโดยตรง คือใน พ.ศ. 303 ครั้งพระโสณเถระกับพระอุตรเถระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรทวารวดี ในฐานะศาสนทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ครั้งนั้นมีคณะพราหมณ์ติดตามมาด้วย นักวิชาการ อาทิ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และกาญจนา สุวรรณวงศ์ จึงสันนิษฐานว่า ศาสนาพราหมณ์น่าจะได้ประดิษฐานตั้งมั่นในผืนแผ่นดินไทยนับจากสมัยนั้น ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดี อาทิ เทวสถาน เทวรูป พระเป็นเจ้าต่างๆ ในจังหวัดภาคตะวันตก เช่น ที่นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี

และทางที่ 3 ภาคใต้ รับผ่านพราหมณ์ที่มากับพ่อค้าอินเดีย ซึ่งเดินทางมาค้าขายที่เมืองท่าในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพบ หลักฐานอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา พัทลุง

หลักฐานทางโบราณคดีที่รับอิทธิพลผ่าน 3 อาณาจักรข้างต้นแสดงว่า ในระยะแรก ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ยอมรับพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ในขณะที่ประชาชนยังคงนับถือพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อดั้งเดิม และบางส่วนมีความเชื่อผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และผี

เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์พระร่วงทรงเอาพระทัยใส่การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเอาพระธุระในกิจการของศาสนาพราหมณ์ด้วย ในฐานะทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ดังปรากฏจากโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์หลายแห่ง เช่น วัดศรีสวาย วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง วัดเจ้าจันทร์ เทวสถานในอาณาจักรสุโขทัย รวมถึงหลักฐานในศิลาจารึกหลักต่างๆ เช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง โดยในจารึกวัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย (หลักที่ 4) สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เป็นอักษรขอม ภาษาเขมร กล่าวถึงการสร้างเทวรูปไว้สำหรับบูชา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแปลได้ความดังนี้

“…แล้วทรงหล่อรูปพระศรีอาริย์พระองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ในพระวิหารคด ทิศใต้ในอาราม ครั้งหนึ่งตรัสสั่งนายศิลปินนายช่างให้หล่อรูปพระนเรศ พระมเหศวร พระวิษณุกรรม รูปพระสุเมธ วรดาบส พระศรีอาริย์ ทั้งห้ารูปนี้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน ไว้เป็นที่นิพัทธบูชา ณ ตำบลป่ามะม่วง…”

ถึงสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานร่องรอยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อย่างเด่นชัด และแพร่หลายมากในกลุ่มชนชั้นสูง คติความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับพิธีกรรมดั้งเดิมของคนไทยนับแต่นั้นมา สำคัญคือการรับเอาคติเทวราชา ซึ่งเป็นหลักการที่ยอมรับสถานะของพระเจ้าแผ่นดินว่าทรงเป็นเทวราช หรือผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเป็นเจ้า (พระนารายณ์ หรือพระอิศวร) คตินี้ได้นำมาใช้เป็นหลักการปกครองประเทศนับแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคติเทวราชาชัดเจน คือการเฉลิมพระนามของพระเจ้าแผ่นดินให้พ้องกับพระนามของพระ เป็นเจ้า อาทิ สมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระยาราม สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้การออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพงศาวดารก็มักเติมสร้อยพระนามให้มีพระนามของพระเป็นเจ้ารวมอยู่ด้วย ดังในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ออกพระนามสมเด็จพระเอกาทศรถว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวร และด้วยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเทวราชนี้เอง พราหมณ์จึงนำเอาพิธีต่างๆ เข้ามาใช้ในราชสำนักเพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน พราหมณ์ในสมัยนั้นจึงได้รับการยกย่องอย่างมาก

ฉบับพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) อ่านกำเนิดเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ยุครัตนโกสินทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน