จิตเวชจัดค่ายสร้างสุขเยาวชน

ใช้สติติดเบรกสมองห่างจอ-ห่างเกม

จิตเวชจัดค่ายสร้างสุขเยาวชน – ช่วงปิดเทอม เด็กมีเวลาว่างเยอะ ก็เป็นปัญหาชวนหนักใจของผู้ปกครอง

จิตเวชจัดค่ายสร้างสุขเยาวชน ใช้สติติดเบรกสมองห่างจอ-ห่างเกม : รายงานพิเศษ

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์ใน

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ร.พ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เลยมีโครงการ “ค่ายสร้างสุขอย่างสร้างสรรค์วันปิดเทอม” โดยจัดขึ้นที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม 50 คน

นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย ฮอร์โมน อารมณ์และจิตใจ อาจถูกชักจูงไปในทางที่ผิดและเกิดการเสพติดง่าย ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือปัญหาการติดเกม ในช่วงปิดเทอมยิ่งน่าห่วง เป็นช่วงที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กและเยาวชน ติดเกม ติดจอมากและง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กมีเวลาว่างจากการเรียน

จิตเวชจัดค่ายสร้างสุขเยาวชน ใช้สติติดเบรกสมองห่างจอ-ห่างเกม : รายงานพิเศษ

เด็กเล่นเกม

“จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าเด็กเยาวชนไทยติดเกมมากเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย โดยใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์ทาง มือถือและอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3.2 ชั่วโมง ในจำนวนนี้ 1 ใน 10-15 เสพติดเกมออนไลน์ขั้นรุนแรง ไม่สามารถหยุดเล่นได้ การที่เด็กใช้เวลาจมอยู่ที่หน้าจอ จะทำให้เด็กขาดสัมพันธภาพกับคนในครอบครัว เพื่อน ขาดทักษะการใช้ชีวิตในสังคมจริงอย่างมาก มีอารมณ์รุนแรงและหุนหันพลันแล่น แก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่ได้และไม่เป็น ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้สูงกว่าคนทั่วไป” นพ.กิตต์กวีกล่าว

นพ.กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมค่ายสร้างสุขครั้งนี้ จะพัฒนาคุณค่าภายในของเด็กและเยาวชนคือ สมอง จิตใจ อารมณ์ โดยใช้สติเป็นเครื่องมือ ผลการศึกษาทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า การฝึกสติจะทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ การตัดสินใจอย่างมีเหตุผลทำงานได้ดีขึ้น เปรียบเสมือนเป็นคันเบรกการกระทำหรืออารมณ์ที่ไม่ดีในชีวิต

จิตเวชจัดค่ายสร้างสุขเยาวชน ใช้สติติดเบรกสมองห่างจอ-ห่างเกม : รายงานพิเศษ

เด็กร่วมโครงการ

ในช่วงของวัยรุ่นนั้นสมองส่วนที่พัฒนาเต็มที่ในวัยนี้ก็คือส่วนที่แสดงอารมณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคันเร่งความอยาก ความต้องการตามสัญชาตญาณพื้นฐาน เช่น การกิน การต่อสู้ ซึ่งจะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 13 ปี ในขณะที่สมองส่วนหน้าจะพัฒนาเต็มที่ในช่วงอายุประมาณ 25 ปี จึงเป็นเหตุเป็นผลทำให้วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น เสี่ยงเสพติดเกม หรือยาเสพติดได้ง่ายและเลิกยากกว่าผู้ใหญ่

ดังนั้นเมื่อสมองส่วนหน้าของวัยรุ่นได้รับการพัฒนา จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งความคิดและการกระทำ การฝึกสติจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาเยาวชนไทยในยุค 4.0 ให้มีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการตามแนวทางของกรมสุขภาพจิตคือ มีสติปัญญาดี (IQ) มีความคิดสร้างสรรค์ (Creation) คิดบวก (Positive) และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม (Response to Society) ซึ่งจะป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายในอนาคตได้ด้วย

นพ.กิตต์กวีกล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลจะติดตามผลหลังจากนี้อีก 3 เดือน เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียน พฤติกรรมการใช้มือถือหรืออินเตอร์เน็ต การดำเนินชีวิต และการช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยผู้ปกครอง เพื่อใช้เป็นต้นแบบขยายผลดำเนินการพัฒนาเยาวชนในเขตสุขภาพที่ 9 คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ในช่วงปิดเทอมเล็ก ต่อไป

นพ.กิตต์กวีกล่าวอีกว่า สำหรับเกมนั้นมีทั้งผลบวกและผลลบ เวลาเล่นเกมที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง หลักการสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่เสี่ยงต่อการติดเกม มีดังนี้ 1.เด็กมีพฤติกรรมแสวงหาการเล่นอย่างมาก 2.ต้องเพิ่มเวลาเล่น 3.เด็กมีอาการขาดการเล่นเกมไม่ได้ จะมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว 4.เด็กสูญเสียหน้าที่ เสียการเรียน

หากพบลูกหลานมีพฤติกรรมที่กล่าวมา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาที่เฟซบุ๊ก ร.พ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน