นักเรียนสื่อปรับตัว ก้าวทันโลกดิจิตอล

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

ก้าวทันโลกดิจิตอลจากปรากฏการณ์สื่อดิจิตอลในโลกการสื่อสารยุคใหม่ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เชิญชวนนักเรียน นักศึกษาด้านสื่อ และผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาการปรับตัวของนักเรียนสื่อ : ในยุคที่คอนเทนต์เป็นยิ่งกว่าตัวหนังสือและสื่อต้องทำได้ทุกอย่าง ที่โรงภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เพื่อเปิดใจและเปิดมุมมองพร้อมรับกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่นที่กำลังท้าทายแวดวงการสื่อสารของประเทศ ไทย บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์และผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาคับคั่ง

วงเสวนาประกอบด้วย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The Momentum ชมพูนุท ดีประวัติ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ a book และจิระเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ถมทอง ทองนอก อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ชวนผู้เข้าร่วมเสวนาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นกันเองในหลากหลายประเด็น

การปรากฏตัวของสื่อดิจิตอลด้านหนึ่งเป็นเหมือนสึนามิถาโถม หากแต่วุฒิชัยมองว่าอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีดิจิตอลกลับกลายเป็นภาชนะชั้นดีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่กระโดดเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ภูมิทัศน์การสื่อสารของประเทศใหม่ อยากให้พรุ่งนี้คนสนใจเรื่องอะไร อยากเปิดวงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไหน สื่อดิจิตอลจุดกระแสสังคมให้เกิดขึ้นได้

จิระเดช ชมพูนุท วุฒิชัย

วุฒิชัยกล่าวต่อว่านักเรียนสื่อยุคนี้มีทางเลือกมากมายนอกจากเข้าทำ งานในองค์กรสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ เธอหรือเขาอาจเป็นยูทูบเบอร์จัดรายการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเป็นเพจแอดมินบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือนักจัดรายการวิทยุผ่านแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ตโฟน

ด้านอรพิณกล่าวว่าการยึดอาชีพสื่อกระแสรองบนโลกดิจิตอลเป็นหลักนั้นต้องสร้างสรรค์สารอย่างรอบคอบ ระวังเรื่องจริยธรรมสื่อและหาวิถีสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ทีมงานและตนเอง

ชมพูนุทแสดงความเห็นว่าสาระการเรียนรู้ ในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนสื่ออาจไม่ตอบโจทย์การทำงานจริงในยุคปัจจุบันแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารและวิทยาการต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนสถาบันการศึกษาปรับหลักสูตรตามความเปลี่ยนแปลง ได้ยาก อย่างไรก็ตาม สาระการเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ เช่น วิชาปรัชญา วิชาสังคมศาสตร์ พื้นฐาน วิชาตรรกศาสตร์ วิชาภาษาต่างประเทศ และอื่นๆ ยังจำเป็นมากสำหรับนักเรียนสื่อสาร

ในวงเสวนาผู้เข้าร่วมเสวนาเสนอความคิดเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยพิจารณาลดวิชาบังคับของคณะให้น้อยลง เปิดให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาตามที่ตนเองสนใจแม้ไม่ตรงคณะ รวมถึงจัดสัมมนาวิชาการ และความรู้ให้บ่อยขึ้น เพราะเชื่อว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่แห่งโอกาสที่ทำให้นักศึกษามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ

สุดท้ายจิระเดชกล่าวว่า นักเรียนสื่อปัจจุบันควรหาตัวเองให้เจอว่ามีความถนัด ชื่นชอบ หลงใหลเรื่องใดเป็นพิเศษจากการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยหรือไม่ ด้วยการลงเรียนในวิชาตามความถนัดเพื่อขัดเกลาตัวเองจนเปล่งประกาย แล้วจึงหาตำแหน่งแห่งที่ในแวดวงสื่อสารมวลชนให้ตนเอง

ทุกวันนี้มีคู่แข่งมากมายทั้งที่จบสายสื่อและไม่จบสายสื่อ พร้อมโดดเข้ามาทำอาชีพนี้แข่งกับพวกเขาเสมอ การรู้จักตัวเองจึงถือเป็นจุดแข็งของนักเรียนสื่อปัจจุบันจิระเดชกล่าว

ภายหลังการเสวนา ปวีณ์กานต์ ยินสว่าง และ สมิตาบัน หยงสตาร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการเสวนาในวันนี้อาจเป็นเรื่องที่พวกตนพอทราบอยู่แล้ว แต่การมาฟังอีกครั้งถือเป็นการย้ำเตือนให้เห็นความสำคัญที่นักเรียนสื่อต้องเร่งปรับตัวหากไม่อยากล้าหลังคนในวงการอื่น สมิตาบันกล่าวว่าการอ่านความเห็นของผู้อ่านบนโลกดิจิตอลระหว่างที่ตนฝึกงานอยู่ที่สำนักข่าวบีบีซีไทยมีส่วนช่วยอย่างมากให้เข้าใจคนอ่านและปรับเนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้เข้ากับพฤติกรรมการอ่านได้ดียิ่งขึ้น

การสอนของคณาจารย์หลายท่านเป็นหัวข้อหนึ่งที่หนูรู้สึกว่าควรเร่งปรับตัวสักหน่อย เนื่องจากเราเห็นว่าบางท่านยังสอนเทคนิคการทำงานที่ไม่มีองค์กรสื่อที่ไหนใช้แล้ว หลายองค์กรปรับการทำงานไปเป็นระบบดิจิตอลหมดแล้วกรกมล ศรีวัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวและว่าวิชาความรู้ส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตช่วงฝึกงานได้จริง เช่น วิชาหลักการเขียน วิชาหลักการถ่ายภาพ และอื่นๆ จะมีแต่เพียงวิชาความรู้ที่ขึ้นกับเทคโนโลยีสื่อสารบางอย่างที่ควรทบทวนและอัพเดตให้ตรงกับที่องค์กรสื่อทั่วไปใช้กันจริงๆ

โดย วิศวัส ปัญญาวงศ์สถาพร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน