พระนั่งวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา : คติ-สัญลักษณ์

พระนั่งวัดมงคลบพิตร – พระมงคลบพิตร วิหารพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐเป็นแกนและบุด้วยทองสัมฤทธิ์รอบองค์พระ หน้าตัก 9.55 เมตร สูง 12.45 เมตร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง

พระนั่งวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา : คติ-สัญลักษณ์

โบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างปี พ.ศ.1991-2145 ราวสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เป็นศิลปะผสมผสานพุทธศิลป์แบบสุโขทัยไว้ด้วย เดิมตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของวังหลวงแล้วพระเจ้าทรงธรรม (ปี พ.ศ.2163-2171) ได้ชะลอย้ายพระพุทธรูปองค์นี้มาทางฝั่งตะวันตกของวังด้านข้างนอกเขตวัดพระศรีสรรเพชร แล้วสร้างมณฑปครอบไว้ แต่มีอุบัติเหตุที่ต้องซ่อมบำรุงและปฏิสังขรณ์วิหารหลังนี้หลายครั้ง รวมทั้งพระพุทธรูปองค์นี้ด้วย

ภายหลังการเสียกรุง พ.ศ.2310 วิหารและพระพุทธรูปองค์นี้ถูกทำลายเสียหายมากมาย ในปี พ.ศ.2474 พระยาโบราณราชธานินทร์ซ่อมแซมพระพุทธรูปที่พระเมาลีและพระกรข้างขวา ซึ่งหักให้เต็มบริบูรณ์

ปี พ.ศ.2500 มีการทำนุบำรุงพุทธศาสนาในทุกๆ ด้าน จอมพล ป.พิบูลสงครามในสมัยนั้นจึงได้จัดการให้มีการปฏิสังขรณ์พระวิหารมงคลบพิตรขึ้น

พระนั่งวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา : คติ-สัญลักษณ์

แบบแปลนที่ใช้ในการปฏิสังขรณ์นี้ มาจากฝีมือของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่พวกข้างในกรมศิลปากรเรียกท่านว่า “สมเด็จครู” และพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ช่วยในการออกแบบที่ใช้เค้าโครงของซากวิหารเดิม

เป็นมหาวิหารที่งดงามทั้งรูปแบบ รูปทรง สัดส่วน ที่งดงามเป็นที่สุดหลังหนึ่งของประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงพระพุทธรูป พระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกนปูนหุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์ ที่น่าจะบอกถึงความร่ำรวย รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พลังอำนาจของอยุธยาตอนต้นที่ทำให้มีการสร้างศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ ที่น่าจะหมายถึงการตั้งถิ่นฐาน ความรุ่งเรืองที่ชัดเจนของยุคต้นอยุธยา

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน