ฉัตรมงคล (ตอนแรก) : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

ฉัตรมงคลแปลว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไรคะ

ปณิตา

ตอบ ปณิตา

ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัดตระมงคน หรือ ฉัดมงคน) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่ง ตรงกับวันบรมราชาภิเษก

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติ เนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน ตรีศก ..1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม ..2394 นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงทรงให้จัดการ พระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก พระราชทานชื่อฉัตรมงคลโดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13 14 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ..1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน ..2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4

กระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีระกา เบญจศก ..1235 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน ..2416 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย

ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลมาทำในเดือน 12 และเรียกว่าการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรมีพระราชพิธีรวม 4 วัน ในเดือน 12 แรม 10 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ

ยังมีรายละเอียดว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลคือการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ในโบราณกาลพระราชพิธีฉัตรมงคลยังไม่มีเกิดขึ้น มีแต่เพียงพนักงานฝ่ายหน้าและฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งที่ตนรักษาในเดือน 6 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นงานหลวง

กระทั่งล่วงถึงรัชกาลที่ 4 ราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชดำริว่า วันที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก นับเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินก็ให้นับถือวันนั้นเป็น วันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์ อันใด

ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่ เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรจะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ

แต่ครั้นจะประกาศให้จัดงานและเรียกว่างานฉัตรมงคล หรืองานวันบรมราชาภิเษก ประชาชนทั่วไปก็คงยังไม่เข้าใจ พระองค์จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค แต่ทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระ มหากษัตริย์ แล้วทรงให้จัดการพระราชกุศล พระราชทานนามว่า ฉัตรมงคล

โดยในช่วงแรกเริ่มมีพิธีสวดมนต์ เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ฉบับพรุ่งนี้ (8 ..) อ่านกันต่อถึงวันฉัตรมงคล แผ่นดินรัชกาลที่ 5

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน