ฉัตรมงคล (ตอนจบ) : รู้ไปหมด

ฉัตรมงคล (ตอนจบ) – วานนี้ (7 พ.ค.) “ปณิตา” ถามว่า ฉัตรมงคล แปลว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไร เมื่อวานพบกับจุดเริ่มต้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 แล้ว วันนี้อ่านกันต่อ

ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) วันบรมราชาภิเษกตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 โดยทรงทราบในพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นอย่างดี ทรงต้องการเปลี่ยนวันฉัตรมงคล

แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องพระราชพิธีฉัตรมงคล จึงทรงให้แก้ไขและออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น (เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) ให้พระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชาภิเษก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงยินยอม ในส่วนของประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคก็มิได้ทรงละทิ้งไปและได้จัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลมาอย่างต่อเนื่อง

ครั้นมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) การจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษก อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีทักษิณานุประทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงพระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ใหม่

โดยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) การจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลได้มีเปลี่ยนแปลงไป ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ดังนั้น วันฉัตรมงคลในรัชสมัยของพระองค์จะตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี โดยทรงให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคลรวม 3 วัน คือ

วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระบรมราชาบุพการี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น

และวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง ทหารเรือและทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด

จากนั้นมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดีให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นบุรุษและสตรี หลังจากนั้นจะเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคลถือเป็นวันสำคัญที่ทางราชการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2560 การสวรรคตของรัชกาลที่ 9 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง และให้วันที่ 28 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เป็นวันหยุดเพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นไป

ถึงรัชกาลปัจจุบัน วันฉัตรมงคลกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีนี้ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีถัดไปจะถือวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคลสืบไป

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน